7 วิธีในการรักษาการมีส่วนร่วมของพนักงานในช่วงเศรษฐกิจถดถอย

ผู้คนและธุรกิจต่างต้องเผชิญกับช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนเมื่อบางประเทศเข้าสู่ช่วงเศรษฐกิจถดถอยและ GDP โลกหยุดเติบโต คำถามคือ คุณสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจที่หดตัวส่งผลเสียต่อการมีส่วนร่วมของพนักงานของตนเอง เรามาสำรวจประเด็นนี้ไปด้วยกัน

การมีส่วนร่วมของพนักงาน | ใช้เวลาอ่าน 6 นาที
เราจะเจอกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2022 นี้หรือไม่

เราจะเจอกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2022 นี้หรือไม่

ผู้เชี่ยวชาญต่างออกมาคาดการณ์กันมากขึ้นว่าโลกของเราจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2022 โดยในบางประเทศอย่างสหราชอาณาจักรนั้นได้เข้าสู่ช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในเดือนกรกฎาคม กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund หรือ IMF) ได้เปิดเผยการคาดการณ์เกี่ยวกับ GDP โลกที่หดตัวลงที่ใช้ชื่อว่า 'Gloomy and Uncertain' (มืดมนและไม่แน่นอน) โดยมองว่าตัวเลข GDP จะตกลงจาก 6.1 ในปี 2021 เหลือ 3.2 ในปี 2022

IMF ยังคาดการณ์ด้วยว่าตัวเลขในปี 2023 จะลดลงไปอีกจนเหลือ 2.9 ทั้งนี้ ความหมายดั้งเดิมของภาวะเศรษฐกิจถดถอยคือการที่ตัวเลข GDP ลดลงอย่างต่อเนื่องถึง 2 ไตรมาส ดังนั้น การคาดการณ์เหล่านั้นล้วนแล้วแต่ชี้ให้เห็นว่าเรากำลังจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในไม่ช้า

ปัจจัยใดบ้างที่กระตุ้นให้เกิดการหดตัวทางเศรษฐกิจ คำตอบคือมีหลายปัจจัยมาก ซึ่งหลายๆ ปัจจัยก็ถูกพูดถึงในข่าวสารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์จากปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องกับสงครามในยูเครน รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ส่งผลให้ค่าครองชีพของผู้คนทั่วโลกเพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกทั้งดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index) ขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ยังชี้ให้เห็นถึงตัวเลขเงินเฟ้อในระหว่างปี 2021-2022 ที่อยู่ในระดับสูงทั้งในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และประเทศกลุ่มยูโรโซน ที่อัตราเงินเฟ้อของหลายประเทศได้แตะเลขสองหลักเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จนส่งผลให้ราคาสินค้าต่างๆ เพิ่มสูงสุดนับตั้งแต่ทศวรรษ 1980

เรียนรู้ว่าผู้นำด้านทรัพยากรบุคคลทั่วโลกสร้างวัฒนธรรมองค์กรได้อย่างไร

ดาวน์โหลดเคล็ดลับมืออาชีพทั้ง 6 ข้อเพื่อค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างการมีส่วนร่วมของพนักงานและวัฒนธรรมองค์กร

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยส่งผลกระทบต่อพนักงานอย่างไร

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยส่งผลกระทบต่อพนักงานอย่างไร

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยส่งผลให้ใครหลายคนรู้สึกไม่แน่นอนและเกิดความเครียด ทั้งในแง่ของความกดดันในแต่ละวันจากเรื่องค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นและข้อจำกัดด้านการกู้ยืมเงินในระดับบุคคลจาก 'ปัญหาสินเชื่อตึงตัว' อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทำให้เกิดความกังวลเรื่องการจ่ายสินเชื่อ ค่าน้ำ ค่าไฟ ไปจนถึงเรื่องอาหารการกิน

ความกดดันเหล่านี้ยังส่งผลต่อชีวิตการทำงานของคนเหล่านี้ด้วย พนักงานอาจต้องเผชิญกับการไม่ได้รับเงินเดือนเพิ่มหรือไม่ได้โบนัสรายปีจากการที่ธุรกิจจำเป็นต้องรัดเข็มขัด การจำกัดการว่าจ้างพนักงานส่งผลให้พวกเขามีภาระงานที่เพิ่มขึ้น ทั้งยังเสี่ยงที่จะเกิดช่องว่างในการเรียนรู้และพัฒนาจากการที่หัวหน้าคาดหวังให้พนักงานจะรับผิดชอบในบทบาทหน้าที่อื่นๆ กันมากขึ้น ไม่เพียงแค่นั้น ภาวะเศรษฐกิจถดถอยยังอาจทำให้ธุรกิจจำเป็นต้องพักแผนการและโปรเจ็กต์ที่พนักงานมุ่งมั่นทุ่มเทเนื่องด้วยข้อกังวลด้านค่าใช้จ่าย ซึ่งจะยิ่งทำให้การสร้างความรู้สึกถึงจุดมุ่งหมายและความมั่นใจในอนาคตนั้นทำได้ยากขึ้นอีกด้วย

สรุปง่ายๆ ก็คือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยส่งผลเสียต่อการมีส่วนร่วมของพนักงานของคุณ

แล้วสิ่งนี้ส่งผลเสียมากน้อยเพียงใดกัน ข้อมูลจากรายงานที่ศึกษาย้อนหลังของ Wharton Business School จาก University of Pennsylvania ในปี 2018 ระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2008 ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อมุมมองและทัศนคติที่พนักงานมีต่อการทำงาน พนักงานสูญเสียขวัญกำลังใจจากการขาดความก้าวหน้าในอาชีพในระยะยาวและจากความนิยมที่เพิ่มขึ้นของการทำงานแบบสัญญาจ้างชั่วคราวที่ไม่มีความมั่นคง ตลอดจนโอกาสในการมีบ้านเป็นของตัวเองและสร้างครอบครัวที่น้อยลง

ในขณะที่บางประเทศอย่างสหราชอาณาจักรเข้าสู่ช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย และประเทศอื่นๆ ก็ใกล้จะเผชิญกับภาวะนี้มากขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่าสิ่งที่เราควรทำคือการยกระดับมาตรการด้านการมีส่วนร่วมของพนักงานเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลลัพธ์ดังเช่นที่เกิดขึ้นในปี 2007-2009

ทว่าสถานการณ์ในครั้งนี้จะดียิ่งขึ้นไปอีกหากเรารักษามาตรฐานการจัดการประสบการณ์ของพนักงานให้สูงอยู่เสมอไม่ว่าจะอยู่ในเงื่อนไขทางเศรษฐกิจแบบใดก็ตาม เพราะท้ายที่สุดแล้ว การเปลี่ยนแปลงนั้นสามารถเกิดได้หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคม สภาพภูมิอากาศ ไปจนถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ และเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบชีวิตของเรา การสร้างความมั่นใจว่าพนักงานของคุณมีความสุขในการทำงานจะเป็นตัวช่วยให้แก่คุณในการสร้างความยืดหยุ่นปรับตัวในองค์กร เพื่อให้คุณพร้อมที่จะรับมือกับสิ่งต่างๆ ที่รออยู่ข้างหน้า

วิธีสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานในช่วงเศรษฐกิจถดถอย

วิธีสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานในช่วงเศรษฐกิจถดถอย

กลยุทธ์บางส่วนที่คุณสามารถนำไปใช้รับมือกับผลกระทบด้านการมีส่วนร่วมของพนักงานที่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยมีดังนี้

  1. สื่อสารด้วยความโปร่งใส

    เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ เป็นธรรมดาที่คนเรามักจะนึกถึงเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดและมีมุมมองในแง่ลบไปเสียหมด อย่างไรก็ตาม คุณไม่ควรพยายามปกป้องพนักงานของตัวเองไม่ให้รับรู้ถึงความจริงที่เกิดขึ้นตรงหน้า แต่ควรสื่อสารกับพวกเขาอย่างสม่ำเสมอถึงแผนการของคุณ พร้อมขอความเห็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจช่วยประหยัดต้นทุนที่คุณคิดที่จะนำไปใช้กับธุรกิจ

    แม้ว่าผู้นำจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการสื่อสารประเด็นหลักเกี่ยวกับกลยุทธ์ของบริษัท แต่สายสัมพันธ์ของผู้จัดการถือได้ว่ามีความสำคัญมากกว่าในแง่ของการรักษาขวัญกำลังใจ ซึ่งจะว่าไปแล้ว สิ่งนี้ก็สามารถให้ได้ทั้งคุณและโทษ ทั้งนี้ งานวิจัยจาก Gallup เผยว่า ผู้จัดการมีส่วนทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของพนักงานในระดับที่ต่างกันถึง 70% ความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานกับผู้จัดการจะช่วยให้พนักงานสามารถเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับธุรกิจในระดับบุคคลเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับข้อกังวลต่างๆ รวมถึงส่งต่อข้อกังวลเหล่านั้นไปตามสายการบังคับบัญชาได้

  2. เตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือพนักงาน

    รับรู้ถึงสถานการณ์ที่ยากลำบาก พร้อมให้การสนับสนุนด้านอารมณ์และในเชิงปฏิบัติแก่พนักงานเมื่อพวกเขาต้องการ

    การสนับสนุนและการปรับเปลี่ยนเป็นรายบุคคลจะช่วยให้พนักงานทำงานสำเร็จลุล่วงในขณะที่สถานการณ์ส่วนตัวของแต่ละคนเปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ การศึกษาที่เผยแพร่ใน Harvard Business Review ระบุว่า พนักงาน 21% กล่าวว่าการสนับสนุนแบบเป็นรายบุคคลเป็นแนวทางที่มีประโยชน์ในช่วงเดือนแรกๆ ของการแพร่ระบาดของโควิดในปี 2020 ที่ความรับผิดชอบในการเลี้ยงดู ความพร้อมในการดูแลบุตรหลาน และความจำเป็นในการทำงานจากทางไกลล้วนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตลอดจนการทำงานที่จำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์

    โปรแกรมช่วยเหลือพนักงาน (Employee Assistance Program หรือ EAP) สามารถช่วยคุณมอบการสนับสนุนแก่พนักงาน พร้อมกับเปิดโอกาสให้พวกเขาเลือกที่จะไม่เปิดเผยตัวตนได้ โดยการศึกษาหลายชิ้นเผยให้เห็นว่า ธุรกิจต่างๆ ที่ดำเนินโปรแกรม EAP นั้นมีระดับความเครียดจากการทำงานของพนักงานลดลง ทั้งยังมีระดับความผูกพันต่อองค์กร ความพึงพอใจในหน้าที่การงาน และการสนับสนุนทางสังคมเพิ่มขึ้น

  3. แสดงความเห็นอกเห็นใจ

    ไม่ว่าพนักงานจะมีบทบาทในที่ทำงานอย่างไร ทุกคนต่างก็มีชีวิตส่วนตัวซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยไม่ทางใดก็ทางหนึ่งกันทั้งนั้น การแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อพนักงานในประเด็นต่างๆ เช่น ความไม่แน่นอนในอาชีพการงานและความเครียดเรื่องการเงินจะช่วยให้พวกเขารู้สึกมีตัวตนและมีคนในที่ทำงานคอยรับฟัง

    อย่างไรก็ตาม Society for Human Resource Management ได้เน้นย้ำถึงการหาจุดสมดุลระหว่างความเห็นอกเห็นใจกับความรับผิดชอบในขณะที่ต้องดูแลจัดการพนักงานในช่วงเวลาที่ยากลำบาก โดยสมาคมแห่งนี้แนะนำให้องค์กรกำหนด 'ความคาดหวังเล็กๆ' ที่ทำให้ผู้คนหันมาโฟกัสกับปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยคลายความวิตกกังวลโดยไม่จำเป็นต้องตัดภาระงานทั้งหมดออก โดยตัวอย่างของวิธีการนี้ได้แก่ การกำหนดเป้าหมายรายวันแทนการกำหนดเป้าหมายรายเดือนหรือรายสัปดาห์

  4. ตอบแทนพนักงานอยู่เสมอ

    การยกเลิกสวัสดิการที่พนักงานคาดหวังเป็นหนึ่งในไม่กี่สิ่งที่สร้างความไม่พึงพอใจและความคับแค้นใจได้เป็นอย่างมาก การตัดเงินเดือนหรือยกเลิกการจ่ายโบนัสอาจคลายกังวลเรื่องงบดุลได้ในระยะสั้น แต่หลังจากนั้น คุณอาจต้องรับผลจากการกระทำดังกล่าวด้วยการสูญเสียผลิตภาพหรือช่องว่างในวัฒนธรรมในที่ทำงานแทน

    หากคุณต้องการตัดสิ่งต่างๆ ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประสบการณ์ของพนักงาน คุณควรพิจารณาให้พนักงานเหล่านี้มีส่วนในการตัดสินใจด้วย ตลอดจนชี้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่จำเป็นต้องตัดออกด้วยความโปร่งใสและมอบตัวเลือกต่างๆ ให้พนักงานได้แสดงความเห็น โดยหากคุณดำเนินการโดยใช้แบบสำรวจ ให้ลองใช้การวิเคราะห์ร่วมกัน ซึ่งจะช่วยให้พนักงานได้มีโอกาสตัดสินใจทิ้งบางสิ่งเพื่อแลกกับสิ่งที่มีความสำคัญที่สุดกับตนเอง

  5. จัดการฝึกอบรม

    การพัฒนาและฝึกอบรมพนักงานเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการสนับสนุนพนักงานที่รู้สึกไม่มั่นใจเกี่ยวกับอนาคตหรือสงสัยว่าทักษะของตนเองยังคงมีประโยชน์อยู่หรือไม่ การพัฒนาทักษะเดิมและการเพิ่มเติมทักษะใหม่จึงได้กลายเป็นประเด็นที่มีความสำคัญในช่วงที่ผ่านมานี้จากการที่นายจ้างต้องการให้พนักงานของตนพร้อมรับมือกับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงเทคโนโลยี

    การเพิ่มทักษะใหม่ๆ ให้กับธุรกิจของคุณยังมีประโยชน์ในแง่ของการกระตุ้นการมีส่วนร่วมของพนักงานด้วยเช่นกัน งานวิจัยของ Gallup ในปี 2021 แสดงให้เห็นว่า 76% ของพนักงานที่ผ่านการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มเติมทักษะใหม่ๆ นั้นมีความสุขกับงานที่ทำ เทียบกับผู้ที่ไม่ได้เข้ารับการฝึกอบรมซึ่งมีตัวเลขอยู่ที่ 62% นอกจากนี้ พนักงานที่ได้รับการพัฒนาทักษะยังมีแนวโน้มที่จะมีจุดมุ่งหมายเพิ่มขึ้น (78% ต่อ 65%) และกล่าวว่าตนได้รับโอกาสให้เลื่อนตำแหน่งมากขึ้น (72% ต่อ 41%) อีกด้วย

  6. ให้ความสำคัญกับสุขภาวะ

    นายจ้างต่างตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาวะของพนักงานในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งเป็นช่วงที่คำว่า "สุขภาวะ" ได้กลายเป็นแนวคิดที่สำคัญสำหรับหัวหน้าฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่ต้องการช่วยให้พนักงานใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น ด้วยเหตุนี้ ความคาดหวังของพนักงานจึงไม่เหมือนเดิมและในปัจจุบัน นายจ้างเองก็จำเป็นต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อสุขภาพทางกายและทางใจของพนักงานของตนด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์โลกที่ส่งผลในเชิงลบ เช่น ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

    ข่าวดีก็คือ การดูแลเอาใจใส่สุขภาวะของพนักงานสามารถส่งผลดีต่อผลประกอบการของธุรกิจได้ การศึกษาโดย BITC Workwell เผยว่า บริษัทต่างๆ ที่อยู่ในดัชนี FTSE 100 ที่มีการจัดการรายงานการมีส่วนร่วมและสุขภาวะของพนักงานที่ยอดเยี่ยมจะมีประสิทธิภาพมากกว่าบริษัทอื่นๆ ในดัชนี FTSE 100 อยู่ที่ 10%

  7. ชื่นชมและให้รางวัลพนักงาน

    การชื่นชมผลงานของพนักงานแต่ละคนเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการรักษาการมีส่วนร่วมของคนเหล่านี้เอาไว้และอาจมีส่วนช่วยสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานในช่วงเศรษฐกิจถดถอย ทั้งนี้ ตัวเลขที่รายงานโดย Forbes แสดงให้เห็นถึงจำนวนพนักงานที่ตั้งใจจะทำงานในตำแหน่งเดิมที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าประหลาดใจเมื่อแต่ละคนได้รับการชื่นชมบ่อยขึ้น โดยเพิ่มขึ้นกว่า 31% ด้วยกัน

    แม้ว่าคุณจะสามารถผลักดันการยอมรับในลักษณะนี้โดยใช้สวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ ร่วมด้วยได้ แต่ Steve Sonnenberg จาก Forbes กลับมองว่า การสร้างการยอมรับอย่างต่อเนื่องนั้นไม่จำเป็นต้องใช้เงินเสมอไป โดยเขาเชื่อมั่นว่า "...การยกย่องชื่นชมในเชิงสัญลักษณ์ เช่น การ์ดแสดงความยินดี ประกาศนียบัตร หรือการกล่าวถึงในที่สาธารณะก็ให้ผลลัพธ์ได้พอๆ กับรางวัลที่เป็นตัวเงิน"

หัวข้อที่คุณอาจสนใจ

เชื่อมต่อถึงกันอยู่เสมอ

รับข่าวสารและข้อมูลเชิงลึกล่าสุดจากบุคลากรหน้างาน

เมื่อส่งแบบฟอร์มนี้ จะถือว่าคุณยินยอมที่จะรับการติดต่อสื่อสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับการตลาดจาก Facebook ซึ่งประกอบด้วยข่าวสาร กิจกรรม ข้อมูลอัพเดต และอีเมลส่งเสริมการขาย โดยคุณสามารถถอนความยินยอมและเลิกรับอีเมลดังกล่าวได้ทุกเมื่อ นอกจากนี้ คุณยังรับทราบว่าได้อ่านและยอมรับข้อกำหนดด้านความเป็นส่วนตัวบน Workplace แล้ว

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง

งานเสวนาออนไลน์: เคล็ดลับสำคัญในการจัดทำกลยุทธ์ด้านประสบการณ์ของพนักงาน (EX)

ลงทะเบียนเลย
บทความนี้มีประโยชน์หรือไม่
ขอบคุณสำหรับความเห็นของคุณ

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง

งานเสวนาออนไลน์: เคล็ดลับสำคัญในการจัดทำกลยุทธ์ด้านประสบการณ์ของพนักงาน (EX)

ลงทะเบียนเลย

โพสต์ล่าสุด

การมีส่วนร่วมของพนักงาน | ใช้เวลาอ่าน 8 นาที

คำถามสำหรับแบบสำรวจความพึงพอใจของพนักงาน: ควรถามอะไรและเพราะเหตุใด

คุณจะสร้างประสบการณ์ของพนักงานให้ออกมาดีเลิศได้อย่างไรหากคุณไม่สามารถวัดผลสิ่งเหล่านี้ได้ มาเรียนรู้วิธีใช้แบบสำรวจความพึงพอใจของพนักงานเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กรของคุณไปด้วยกัน

การมีส่วนร่วมของพนักงาน | ใช้เวลาอ่าน 6 นาที

เสียงของพนักงาน: การรับฟังจะช่วยให้คุณสามารถสร้างวัฒนธรรมและคว้าตัวผู้มีความสามารถมาได้อย่างไร

องค์กรต่างๆ ล้วนกำลังมองหาวิธีที่จะดึงดูดและรักษาพนักงานที่เก่งที่สุดของตนเอาไว้เมื่อต้องเผชิญกับการลาออกครั้งใหญ่ และนี่คือเหตุผลที่การรับฟังอาจเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จนั้น