ทักษะการทำงานในอนาคต: ทำอย่างไรให้องค์กรของคุณประสบความสำเร็จ
ทักษะที่จะช่วยให้เรารับมือกับอุปสรรคต่างๆ ในโลกยุคดิจิทัลได้คือทักษะที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์โดยเฉพาะ ต่อไปนี้คือสาเหตุที่ทำให้ 'ทักษะด้านอารมณ์' กลายเป็นหัวใจสำคัญของที่ทำงานในอนาคต


โควิด-19 ทำให้การเติบโตทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมกลายเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ทั้งยังนำพาเราไปสู่สิ่งที่ใครหลายคนมองว่าเป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความเป็นไปได้ ดังจะเห็นได้จากการคาดการณ์ที่ว่า ปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะทำให้ GDP โลกเพิ่มสูงขึ้น 26% ภายในปี 20301
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้บริหารธุรกิจจำนวนมากแล้ว การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ต้องอาศัยการพลิกโฉมวิธีการทำงานในแต่ละวันขององค์กร ซึ่งรวมไปถึงวิธีที่บุคลากรของตนทำงานและทักษะที่พวกเขาจำเป็นต้องมีสำหรับการทำงานในอนาคต
รายงาน Future of Jobs ของ World Economic Forum ระบุว่า ภายในปี 2025 จะมีพนักงานกว่า 50% ที่จำเป็นต้องได้รับฝึกฝนทักษะใหม่ ทว่าแบบสำรวจของ PwC ที่สอบถามผู้นำธุรกิจและหัวหน้าฝ่ายบุคลากรกลับเผยให้เห็นว่า มีเพียง 26% เท่านั้นที่เห็นด้วยอย่างยิ่งว่าพวกเขาสามารถระบุทักษะที่จำเป็นต่อการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีได้อย่างชัดเจน
รับชมวิดีโอ
เราจะพาคุณไปเจาะลึกปัจจัยเกี่ยวกับมนุษย์ที่ปัจจุบันมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของธุรกิจ รวมถึงบทสัมภาษณ์ของ Ben Eubanks ผู้ดำรงตำแหน่ง Principal Analyst จากบริษัท Lighthouse Research & Advisory โดยเขาจะมาแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับทักษะเฉพาะที่พนักงานจำเป็นต้องมีเพื่อขับเคลื่อนสถานที่ทำงานในอนาคตให้เราได้ฟังกัน ทั้งนี้ คุณสามารถรับชมบทสัมภาษณ์แบบเต็มๆ ได้ทางด้านล่างหรืออ่านต่อเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติมก็ได้เช่นกัน

ทักษะสำหรับงานในอนาคต
ความต้องการทักษะใหม่ๆ เกิดจากประสบการณ์ของพนักงานทั้งในแง่ของสถานที่ (ที่ทำงาน) และวิธีการ (กระบวนการ) ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด
สิ่งที่ทำให้เกิดการหยุดชะงักในช่วงแรกจนนำมาซึ่งข้อบังคับให้ผู้คนต้องทำงานจากที่บ้านและเว้นระยะห่างทางสังคมกลับส่งผลให้ผู้นำธุรกิจหันมาให้ความสำคัญกับโซลูชั่นการทำงานที่เน้นเป้าหมาย ยืดหยุ่น และยั่งยืนมากขึ้น โดยเป็นโซลูชั่นที่สนับสนุนการเปิดกว้าง ประหยัดต้นทุน และส่งเสริมให้เกิดประสิทธิภาพและสมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัวที่มากขึ้น
สำหรับพนักงานที่ทำงานจากทางไกลและแบบไฮบริด ออฟฟิศของพวกเขาสามารถอยู่ในรูปแบบของทั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัท โต๊ะทานอาหาร หรือแม้แต่ร้านคาเฟ่ สิ่งนี้เองที่ทำให้เกิดความท้าทายในการเชื่อมต่อกับผู้อื่นในระหว่างที่ไม่ได้ทำงานที่ออฟฟิศหลัก ซึ่งเป็นสิ่งที่บุคลากรหน้างานต้องทำมาหลายปีก่อนหน้านี้แล้ว และสำหรับพนักงานที่ไม่มีโต๊ะทำงานเหล่านี้ แม้ว่าที่ทำงานของพวกเขาจะยังคงเป็นที่เดิม แต่ฟังก์ชั่นของที่ทำงานในช่วงหลังโควิดก็อาจแตกต่างไปจากเดิมอย่างมากได้ การเข้าถึงข้อมูลแบบเรียลไทม์และการวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ ระบบชำระเงินแบบไร้เงินสด ตลอดจนแอพมือถือที่ง่ายยิ่งขึ้นส่งผลให้ระบบนิเวศของการทำงานในแต่ละวันของบุคลากรเหล่านี้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามมา ทั้งยังต้องอาศัยความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีคูณอีกด้วย
บุคลากรหน้างานและพนักงานออฟฟิศจำเป็นต้องมีทักษะเฉพาะเพื่อให้สามารถทำงานในสภาพแวดล้อมใหม่ได้ แต่ด้วยอัตราความก้าวหน้าทางดิจิทัลในปัจจุบัน ทำให้มีการคาดการณ์กันว่าเราอาจจะได้เห็นวิธีการทำงานแบบเดิมๆ หยุดชะงักลงเป็นวงกว้างมากยิ่งขึ้น
รายงาน Future of Jobs ของ World Economic Forum ได้คาดการณ์ไว้ว่า ภายในปี 2025 งานกว่า 85 ล้านตำแหน่งจะถูกแทนที่ด้วยการแบ่งประเภทของแรงงานระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะเดียวกันก็จะเกิดงานใหม่ๆ ขึ้นกว่า 97 ล้านตำแหน่งด้วยกัน อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวไม่ใช่แค่การเพิ่มหรือลดตำแหน่งงานออกจากตลาดเพียงอย่างเดียว ในขณะที่ทุกๆ อุตสาหกรรมได้เปิดตัวเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI กันหมด ผู้นำจำเป็นต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง หน้าที่การงานที่มีอยู่เดิมจะพัฒนาขึ้นไปอีก และพัฒนาการดังกล่าวก็มาพร้อมกับความจำเป็นที่พนักงานจะต้องก้าวตามสิ่งนี้ให้ทันด้วย นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้การเพิ่มทักษะและการฝึกฝนทักษะใหม่เป็นสิ่งสำคัญ
แม้ว่าระบบอัตโนมัติจะค่อยๆ ลดความจำเป็นในการทำงานที่ซ้ำซากจำเจและต้องใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก ทว่านอกเหนือจากการนำแรงงานที่เป็นหุ่นยนต์มาแทนที่แรงงานมนุษย์แล้ว ปรากฏการณ์นี้กลับต้องอาศัยทักษะด้านอารมณ์ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกมองว่าไม่สำคัญมาอย่างยาวนาน กล่าวคือ ทักษะการทำงานในอนาคตที่จำเป็น ณ ตอนนี้คือทักษะที่ Eubanks ให้ความเห็นว่า "เกี่ยวข้องกับมนุษย์โดยเฉพาะ"
"…ทุกครั้งที่ระบบอัตโนมัติเข้ามามีบทบาทสำคัญ" เขากล่าว "ไม่ว่าจะเป็นระบบอัตโนมัติในรูปเครื่องจักรหรือดิจิทัลก็ตาม ภาระงานที่ยังคงหลงเหลืออยู่ล้วนเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์มากกว่าที่เคยเป็นมาก่อนหน้านี้เล็กน้อย ระบบอัตโนมัตินั้นดึงงานส่วนที่เป็นหุ่นยนต์หรือเครื่องจักรออกไป ซึ่งเป็นอะไรที่จริงๆ แล้วเราก็ไม่ค่อยชอบทำอยู่แล้วถ้าให้พูดกันตรงๆ แล้วงานส่วนที่เหลืออยู่ก็ต้องอาศัยแต่ทักษะการทำงานที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ ซึ่งทำให้เราได้โฟกัสกับสิ่งที่สำคัญที่สุดจริงๆ และสร้างสายสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นและได้ปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ออกมาอย่างเต็มที่"
สำหรับข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติมจาก Eubanks โปรดรับชมวิดีโอนี้ที่เขาจะมาพูดคุยถึงคุณลักษณะพื้นฐานของทักษะที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ในโลกยุคดิจิทัล

ทักษะการทำงานในอนาคตสำหรับปี 2030
McKinsey ชี้ว่าทักษะที่จะช่วยให้เรารับมือกับอุปสรรคต่างๆ ในอนาคตได้อย่างแท้จริงคือ "ทักษะด้านสังคมและอารมณ์ รวมถึงทักษะด้านการรับรู้และทำความเข้าใจที่สูงขึ้น" อย่างไรก็ตาม McKinsey เองก็กล่าวด้วยว่า การมีทักษะเหล่านี้เพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้คุณประสบความสำเร็จได้ อีกปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จด้วยเช่นกันคือทัศนคติ กล่าวคือ แนวทางที่พนักงานใช้จัดการกับงานของตน ตลอดจนวิธีที่พวกเขาสร้างสรรค์ผลงานออกมา ซึ่งอาจหมายถึงความสามารถของพนักงานในการรับมือกับความไม่แน่นอนหรือการเปิดกว้างเพื่อเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ในช่วงแรกด้วยเช่นกัน
6 ทักษะซึ่งจัดอยู่ในทักษะการทำงานที่สำคัญที่สุดในปี 2030 มีดังนี้
ความสามารถด้านดิจิทัล
ดัชนีทักษะด้านดิจิทัลทั่วโลกประจำปี 2022 พบว่า 76% ของพนักงานรู้สึกไม่พร้อมสำหรับการทำงานในโลกยุคดิจิทัลและมีซีอีโอเพียงแค่ 23% เท่านั้นที่มองว่าตนเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี บุคลากรในทุกระดับของทุกอุตสาหกรรมจำเป็นต้องมีความสามารถด้านดิจิทัลที่สูงขึ้น นับตั้งแต่ความรู้ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ อาทิ อีเมลและแชท ไปจนถึงทักษะขั้นสูงอย่างการบริหารจัดการสินค้าดิจิทัลและการออกแบบประสบการณ์ของผู้ใช้ (UX)
เมื่อพิจารณาถึงความเร็วในการเปลี่ยนแปลง เราจะพบว่าความรู้ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ตกยุคได้ค่อนข้างเร็วด้วยเช่นกัน ซึ่งหมายความว่า การเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นวิธีเดียวที่จะรักษาความสามารถด้านดิจิทัล รวมถึงความได้เปรียบในการแข่งขันที่จะตามมาเอาไว้ได้
การสื่อสาร
เราเชื่อมต่อกันผ่านหลายช่องทางและจำเป็นต้องทำความเข้าใจช่องทางเหล่านั้นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการส่งข้อความด่วน การโทรด้วยเสียง การประชุมผ่านทางวิดีโอ หรืออีเมล ซึ่งหมายถึง การใส่ใจกับทักษะการสื่อสารด้วยลายลักษณ์อักษรและด้วยวาจา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแต่ละคนในทีมทำงานจากคนละสถานที่กัน และยังรวมถึงการให้ความสำคัญกับการสื่อสารได้อย่างชัดเจน กระชับ และไม่ใช้คำศัพท์เฉพาะทางอีกด้วย
การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพเป็นทั้งกระบวนการแบบล่างขึ้นบนและบนลงล่าง โดยเป็นกระบวนการแบบสองทางที่อาศัยทักษะการฟังมากพอๆ กับทักษะการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องและเหมาะสมกับสิ่งที่ผู้ฟังต้องการรับฟัง ณ ขณะนั้น
ความคล่องตัวด้านความคิด
ความคล่องตัวด้านความคิดเป็นสิ่งที่ส่งเสริมทักษะความสามารถในการคิด เรียนรู้ และซึมซับข้อมูลใหม่ๆ เช่นเดียวกับความสามารถในการปรับตัว มีความคิดสร้างสรรค์ และรับมือกับความเปลี่ยนแปลงด้วยความยืดหยุ่นปรับตัว คำถามคือ องค์กรของคุณสามารถปรับตัวเมื่อมีโอกาสหรืออุปสรรคเข้ามาได้หรือไม่ สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมและทำสิ่งที่ฉีกไปจากเดิมได้หรือไม่ ตลอดจนมีความสามารถในการคิดนอกกรอบหรือไม่
Dr. Nicole Lipkin นักจิตวิทยาองค์กรแนะนำให้คนเรารับมือกับผู้คน สถานการณ์ และการตัดสินใจต่างๆ ด้วย "ความคิดของคนที่เริ่มต้นเรียนรู้สิ่งต่างๆ ซึ่งหมายถึง การละทิ้งความคิดอคติและการบ่มเพาะความสงสัยใคร่รู้" โดยส่วนหนึ่งนั้นเกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างกรอบความคิดแบบเติบโตซึ่ง Dr. Lipkin กล่าวว่า เป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เราก้าวเดินต่อไปได้และค้นพบเส้นทางของตัวเอง
การคิดเชิงวิพากษ์
เราอยู่ในยุคที่มีข้อมูลเยอะจนล้น การที่เราจะสามารถประเมิน คัดกรอง และวิเคราะห์ข้อเท็จจริงที่อยู่ตรงหน้าได้นั้นเกี่ยวข้องกับการคิดเชิงวิพากษ์ ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นในสถานการณ์ที่ต้องอาศัยการตัดสินใจ การแก้ไขปัญหา การจัดการเวลา และการวางแผนอย่างมีประสิทธิภาพ
คนเราไม่ควรปักใจเชื่อเฉพาะสิ่งที่เห็นจากภายนอก แต่ควรพินิจพิเคราะห์สิ่งนั้นอย่างจริงจัง ซึ่งการมองสิ่งต่างๆ ให้ลึกลงไปนั้นคือโอกาสที่เราจะได้วางรากฐานสำหรับความก้าวหน้าและนวัตกรรมที่แท้จริง
ทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์
การทำงานจากทางไกลมีข้อดีหลายประการ ซึ่งรวมถึงสมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัวด้วย แต่การทำงานรูปแบบนี้ก็นำมาซึ่งความเสี่ยงที่ต้องอยู่ตัวคนเดียว ซึ่งทำให้พนักงานรู้สึกแปลกแยกจากผู้อื่นและรู้สึกห่างเหินได้ โดยสิ่งที่จะช่วยรับมือกับปัญหานี้ได้คือ ทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์ที่ดี อาทิ การทำงานร่วมกัน การสื่อสาร และความเห็นอกเห็นใจ
ที่ทำงานที่เปิดกว้างและให้การสนับสนุนทางด้านอารมณ์คือที่ที่พนักงานจะมีความตั้งใจและสามารถมองโลกผ่านสายตาของผู้อื่นและทำความเข้าใจมุมมองเหล่านั้นได้ วัฒนธรรมแห่งการยอมรับซึ่งกันและกันจะช่วยให้พนักงานสามารถสร้างสายสัมพันธ์บนพื้นฐานของความเชื่อใจและความรู้สึกของการเป็นคอมมูนิตี้ได้ ในขณะเดียวกัน สายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นก็จะช่วยในเรื่องการแก้ไขความขัดแย้ง ตลอดจนการให้และรับฟังคำติชม ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้จัดการอีกด้วย
การบริหารจัดการตนเอง
McKinsey อธิบายการบริหารจัดการตนเองว่าเป็น "ภาวะผู้นำในตนเอง" ซึ่งหากจะกล่าวให้เข้าใจง่ายที่สุดก็คือ ความสามารถในการสร้างแรงกระตุ้นด้วยตนเองของพนักงานที่ไม่มีหัวหน้าคอยดูแล ทั้งยังครอบคลุมถึงการรู้จักตนเอง รวมถึงการประเมินตนเองด้วยความซื่อสัตย์ซึ่งจะช่วยในการดึงจุดแข็งมาใช้และรับมือกับจุดอ่อนของตนเองอีกด้วย
การจัดการตนเองจำเป็นต้องอาศัยความฉลาดทางอารมณ์ ซึ่งเป็นความสามารถในการทำความเข้าใจและจัดการกับอารมณ์ของตนเอง ที่ในทางกลับกันจะส่งผลให้คนเราสามารถควบคุมตนเองได้มากขึ้น ตัดสินใจได้อย่างรัดกุม และสามารถรับสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น เช่น พลังงาน แรงผลักดันที่อยู่ข้างในตัวเอง และความกระตือรือร้นที่จะช่วยส่งเสริมทักษะด้านประสิทธิภาพ การโน้มน้าวใจ ตลอดจนความสามารถในการผลักดันและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่นอีกด้วย
สิ่งที่คุณอาจสนใจ

ก้าวเข้าสู่อนาคตแห่งการทำงาน
สมัครเพื่อรับข้อมูลเชิงลึกล่าสุดจากเราเกี่ยวกับอนาคตแห่งการทำงานและอนาคตของเมตาเวิร์ส
เมื่อส่งแบบฟอร์มนี้ จะถือว่าคุณยินยอมที่จะรับการติดต่อสื่อสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับการตลาดจาก Meta ซึ่งประกอบด้วยข่าวสาร กิจกรรม ข้อมูลอัพเดต และอีเมลส่งเสริมการขาย คุณสามารถถอนความยินยอมและเลิกรับอีเมลดังกล่าวได้ทุกเมื่อ นอกจากนี้ คุณยังรับทราบว่าได้อ่านและยอมรับข้อกำหนดด้านความเป็นส่วนตัวบน Workplace แล้ว