คน Gen Z ในที่ทำงาน: วิธีทำให้คนเหล่านี้มีความสุขอยู่เสมอ

ประชากร Gen Z กำลังเติบโตขึ้น และในไม่ช้าคนเหล่านี้ก็จะกลายเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่มีสัดส่วนมากที่สุดในที่ทำงาน สิ่งนี้มีความหมายอย่างไรต่อธุรกิจ เรามาสำรวจสิ่งนี้ไปพร้อมๆ กัน

วัฒนธรรม | ใช้เวลาอ่าน 5 นาที
Gen Z in the workplace
เหตุใดพนักงานที่เป็นคน Gen Z จึงมีความสำคัญ

เหตุใดพนักงานที่เป็นคน Gen Z จึงมีความสำคัญ

เจเนอเรชั่น Z หมายถึงทุกคนที่เกิดระหว่างปี 1996 ถึง 2010 ซึ่งสมาชิกที่มีอายุมากสุดในคนกลุ่มนี้จะมีอายุ 27 ปีในปี 2023 คนกลุ่มนี้ยังเป็นเจเนอเรชั่นที่มีประชากรมากที่สุด โดยคิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 (32%) ของประชากรโลกอีกด้วย

คน Gen Z มีประสบการณ์และมุมมองต่อโลกในแบบเฉพาะตัวเช่นเดียวกับผู้คนในแต่ละยุคสมัย โดยคุณลักษณะหลักๆ บางส่วนที่ทำให้คน Gen Z แตกต่างจากคนยุคก่อนๆ มีดังนี้

คนกลุ่มนี้โตมากับโลกยุคดิจิทัล

หนึ่งในคุณลักษณะที่โดดเด่นที่สุดของคน Gen Z คือสายสัมพันธ์ระหว่างคนยุคนี้กับเทคโนโลยี ด้วยความที่เกิดมาในโลกที่มีทั้งอินเทอร์เน็ต อุปกรณ์ขนาดพกพา หน้าจอสัมผัส และโซเชียลมีเดียให้ได้ใช้งาน คน Gen Z จึงเป็นเจเนอเรชั่นแรกที่เรียกได้ว่า 'โตมากับโลกยุคดิจิทัล'

ความเข้าใจเทคโนโลยีที่ติดตัวมานี้จึงนำมาซึ่งอุปนิสัยทั้งในแง่บวกและแง่ลบ ในแง่บวก คน Gen Z เติบโตมาพร้อมกับข้อมูลที่ไม่จำกัดและอยู่ใกล้เพียงปลายนิ้ว ทั้งยังสามารถจัดการกับข้อมูลเหล่านั้นได้อย่างง่ายดาย จึงทำให้คนกลุ่มนี้มีนิสัยกระตือรือร้นมากกว่าเมื่อต้องเรียนรู้และศึกษาค้นคว้าสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ก็ส่งผลให้คนกลุ่มนี้รู้สึกเบื่อและหงุดหงิดได้ง่ายจากการทำงานซ้ำๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากงานเหล่านั้นสามารถใช้ระบบอัตโนมัติจัดการได้

เรียนรู้ว่าผู้นำด้านทรัพยากรบุคคลทั่วโลกสร้างวัฒนธรรมองค์กรได้อย่างไร

ดาวน์โหลดเคล็ดลับมืออาชีพทั้ง 6 ข้อเพื่อค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างการมีส่วนร่วมของพนักงานและวัฒนธรรมองค์กร

ความหลากหลายคือเรื่องปกติสำหรับคนกลุ่มนี้

นอกจากจะเป็นเจเนอเรชั่นที่มีประชากรมากที่สุดแล้ว คน Gen Z ยังถูกมองว่าเป็นเจเนอเรชั่นที่มีความหลากหลายมากที่สุดอีกด้วย โดย Pew Research พบว่า 48% ของคน Gen Z ระบุว่าตนมีความหลากหลายทางเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์ (อ้างอิงจากการศึกษาเฉพาะในสหรัฐฯ)

แนวคิดเรื่องเพศและเพศสภาพก็ถือเป็นประเด็นที่มีความหลากหลายมากขึ้นในหมู่คน Gen Z ด้วยเช่นกัน คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มจะบอกว่าตนรู้จักกับคนที่อยากใช้คำสรรพนามที่มีความเป็นกลางทางเพศมากกว่าคนในเจเนอเรชั่นก่อนๆ สิ่งนี้ได้สะท้อนให้เห็นผ่านการที่คน Gen Z คาดหวังเกี่ยวกับวิธีการที่ธุรกิจและหน่วยงานต่างๆ ระบุตัวตนของพวกเขา ดังจะเห็นได้จาก 59% ของคน Gen Z ที่กล่าวว่าแบบฟอร์มหรือโปรไฟล์ออนไลน์ควรมีตัวเลือกสำหรับเพศนอกเหนือจาก "ผู้ชาย" กับ "ผู้หญิง" เมื่อเทียบกับตัวเลขเพียง 50% จากคนยุคมิลเลนเนียล 40% จากคน Gen X และ 37% จากคนยุคเบบี้บูมเมอร์

คนกลุ่มนี้ต้องเผชิญกับความโดดเดี่ยว

คน Gen Z ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็น 'เจเนอเรชั่นที่โดดเดี่ยวที่สุด' มากขึ้นเรื่อยๆ มีแนวโน้มสูงมากที่จะกล่าวว่า ตนรู้สึกเดียวดายเมื่อโตขึ้น ซึ่งปัจจัยที่มักจะถูกกล่าวโทษอยู่บ่อยๆ ก็คือเทคโนโลยี และปัจจัยล่าสุดคือการระบาดใหญ่ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างครอบครัวก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่อาจส่งผลกระทบด้วยเช่นกัน จากการที่คนหนุ่มสาวแต่งงานกันช้าลงและผู้ปกครองทั้งสองคนต่างก็กลับไปทำงานเต็มเวลาตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของพัฒนาการเด็ก

คน Gen Z ไม่ได้สลัดทิ้งความรู้สึกถึงความโดดเดี่ยวที่ติดตัวมานี้ไป และหลายๆ คนก็จะพาความรู้สึกนี้ไปยังที่ทำงานด้วย การศึกษาชิ้นล่าสุดจาก Cigna เผยว่า 73% ของคน Gen Z รายงานว่ารู้สึกโดดเดี่ยวเป็นบางครั้งหรือตลอดเวลา ซึ่งถือได้ว่าเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในบรรดาคนยุคต่างๆ ขณะเดียวกัน 72% ของคน Gen Z ก็รายงานถึงความรู้สึกเขินอาย และ 71% รู้สึกว่าไม่มีใครเข้าใจตนเองด้วยเช่นกัน

คนกลุ่มนี้มีหัวก้าวหน้าทางการเมือง

ด้วยความที่ข่าวสารและความเห็นจากทั่วโลกอยู่ใกล้เพียงปลายนิ้ว คน Gen Z จึงมีความคิดทางการเมืองที่ก้าวหน้ากว่าคนในยุคอื่นๆ ที่อยู่มานานกว่า และมุมมองของคนกลุ่มนี้ก็แตกต่างจากผู้อาวุโสในหลายๆ ด้านที่สำคัญด้วยเช่นกัน

ประเด็นแรกคือมุมมองเรื่องเชื้อชาติ เมื่อเทียบกับคนยุคก่อนหน้าแล้ว คน Gen Z มีแนวโน้มมากกว่าที่จะกล่าวว่า คนผิวดำได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมน้อยกว่า ทั้งยังมีแนวโน้มมากกว่าที่จะเชื่อว่ารัฐบาลควรลงมือทำอย่างแข็งขันมากยิ่งขึ้นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเกือบครึ่งหนึ่งของคน Gen Z ยังกล่าวด้วยว่า การออกกฎหมายอนุญาตการแต่งงานของเกย์และเลสเบี้ยนเป็นสิ่งที่ดีสำหรับสังคม (ข้อมูลทั้งหมดอ้างอิงจากแบบสำรวจในสหรัฐฯ ที่จัดทำโดย Pew)

คนกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางการเงิน

คน Gen Z เติบโตและได้เห็นผู้ปกครองของตนต้องเผชิญความยากลำบากในช่วงเศรษฐกิจขาลงอยู่หลายครั้ง ซึ่งรวมถึงวิกฤติการณ์ทางการเงินในปี 2008 ตามมาด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ (Great Recession) จนมาถึงวิกฤติค่าครองชีพในปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้จึงทำให้คนกลุ่มนี้มีมุมมองที่เข้าใจเรื่องการเงิน

ความมั่นคงทางเศรษฐกิจจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับพนักงาน Gen Z อีกทั้งแนวความคิดที่เน้นผลในทางปฏิบัติและความมั่นคงยังเป็นแรงขับเคลื่อนที่ทำให้คนกลุ่มนี้ต้องการรายได้ที่มั่นคงและไม่อยากให้ตัวเองเป็นหนี้ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม

ความคาดหวังเกี่ยวกับที่ทำงานของคน Gen Z

ความคาดหวังเกี่ยวกับที่ทำงานของคน Gen Z

คน Gen Z ที่สำเร็จการศึกษาเป็นรุ่นแรกก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานในปี 2019 และได้สร้างแบบอย่างเกี่ยวกับวิธีที่คนรุ่นนี้จะปฏิบัติต่อโลกแห่งการทำงานไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

รายงานล่าสุดจาก ThoughtExchange ที่มีชื่อว่า Gen Z At Work (คน Gen Z ในที่ทำงาน) ได้สรุปความคาดหวังที่สำคัญบางส่วนที่คน Gen Z มีต่อที่ทำงานไว้ดังนี้

  • 96% ของพนักงาน Gen Z กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือการที่ตนรู้สึกมีคุณค่า มีส่วนร่วม และได้รับการส่งเสริมสนับสนุนในที่ทำงาน

  • 80% ของคนกลุ่มนี้ต้องการงานที่ช่วยให้ตนได้สำรวจและพัฒนาชุดทักษะใหม่ๆ มากกว่าที่จะต้องโฟกัสที่ทักษะใดทักษะหนึ่ง

  • 79% ของคนกลุ่มนี้ต้องการให้ผู้จัดการให้ความสำคัญกับการพัฒนาตนเองของคน Gen Z มากพอๆ กับการเติบโตในหน้าที่การงาน

  • 53% ของคนกลุ่มนี้พิจารณาเรื่องสวัสดิการในที่ทำงานเมื่อมองหาตำแหน่งงานใหม่ โดยเฉลี่ยแล้ว พนักงาน Gen Z จะเต็มใจที่จะลดเงินที่ได้ลง 19% หากความต้องการอื่นๆ นอกเหนือจากเงินเดือนของตนได้รับการเติมเต็ม

  • 39% ของคนกลุ่มนี้ต้องการความยืดหยุ่นจากการทำงานจากทางไกลโดยเฉพาะ และ 71% ของคนที่ทำงานจากทางไกลหรือทำงานแบบไฮบริดยังกล่าวด้วยว่า ตนจะไม่กลับไปทำงานแบบที่ต้องพบปะผู้คนตลอดเวลา

  • พนักงาน Gen Z มีความคาดหวังที่สูงในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล (Environmental, Social and Governance หรือ ESG) ในที่ทำงาน โดย 73% ระบุว่า ตนจะออกจากบริษัทหากแนวทางปฏิบัติของธุรกิจนั้นไม่มีจริยธรรม ขณะที่ 68% จะออกจากบริษัทหากธุรกิจของตนไม่สร้างความยั่งยืน 62% หากมีความแตกต่างทางสังคม และ 58% หากมีความแตกต่างทางการเมือง

การรับมือกับคน Gen Z

การรับมือกับคน Gen Z

สิ่งที่คุณควรตระหนักอยู่เสมอเมื่อต้องรับมือกับคน Gen Z ในที่ทำงานมีดังนี้

  • เน้นความหลากหลายและการไม่แบ่งแยก

    แบบสำรวจจาก EY พบว่า 63% ของพนักงาน Gen Z เชื่อว่าสิ่งสำคัญอย่างยิ่งคือการทำงานกับผู้ที่มีภูมิหลังทางการศึกษาที่ต่างกัน รวมไปถึงระดับทักษะด้วย ขณะที่ 83% มองว่าการมีผู้คนจากวัฒนธรรมที่แตกต่างกันเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดในการสร้างทีม

    หากที่ทำงานของคุณขาดความหลากหลาย อาจถึงเวลาแล้วที่คุณจะต้องทบทวนกระบวนการจ้างงานของตนเอง รวมถึงทำงานกับทีมฝ่ายบุคคลของคุณอย่างใกล้ชิดเพื่อสร้างกระบวนการจ้างงานที่เป็นธรรมและเปิดกว้างสำหรับพนักงานทุกคนที่มีภูมิหลังแตกต่างกัน คุณสามารถใช้พลังของ Workplace เพื่อลงมือทำสิ่งต่างๆ มากมายที่จะช่วยสร้างชุมชนและสายสัมพันธ์ให้มากขึ้นภายในทีมที่คุณมีอยู่ได้

  • ส่งเสริมเรื่องการติดต่อสื่อสาร

    แม้จะสามารถใช้งานเทคโนโลยีการสื่อสารในรูปแบบดิจิทัลได้อย่างคล่องแคล่ว แต่พนักงาน Gen Z เองก็ให้ความสำคัญกับการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วยเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากการที่คนรุ่นนี้จำนวน 51% ระบุว่าตนชื่นชอบการสื่อสารแบบตัวต่อตัวมากกว่า การส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์แบบตัวต่อตัวจะช่วยให้คุณประสบความสำเร็จในการดึงดูดให้คน Gen Z มีส่วนร่วมในที่ทำงานอยู่เสมอ ซึ่งจะเป็นการสร้างวัฒนธรรมที่ส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกันและการสื่อสารแบบทีม

    ตัวอย่างวิธีง่ายๆ ในการบรรลุเป้าหมายนี้ได้แก่ การเลือกใช้วิดีโอคอลแทนการโทรด้วยเสียง การจัดประชุมทีมและกิจกรรมทางสังคมอย่างสม่ำเสมอ รวมไปถึงการส่งเสริมให้ผู้จัดการถามไถ่พนักงานเป็นประจำ โดยเสนอการให้ความเห็นและตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน

  • ให้อิสระและสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ

    พนักงาน Gen Z ไม่ต้องการทำงานเดียวไปตลอดชีวิต แต่ต้องการเปลี่ยนบทบาทใหม่ๆ อยู่เสมอ การมอบโอกาสที่หลากหลายให้พนักงาน Gen Z ของคุณได้เรียนรู้และเติบโตกว่าแค่ในบทบาทปัจจุบันของตนเองจึงเป็นสิ่งสำคัญ

    ผู้จัดการควรใช้ประโยชน์จากความมีอิสระและแรงจูงใจภายในตัวเองของคน Gen Z ด้วยการมอบหมายความรับผิดชอบที่อยู่นอกเหนือบทบาทและเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้ได้แชร์ไอเดีย ตลอดจนมอบเครื่องมือสำหรับการศึกษาค้นคว้าอิสระ และบ่มเพาะความสนใจของคนเหล่านี้เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทั้งในด้านส่วนตัวและหน้าที่การงาน

  • มอบความยืดหยุ่น

    คน Gen Z ก้าวเข้าสู่โลกแห่งการทำงานที่การทำงานจากทางไกลและแบบไฮบริดได้รับการยอมรับในวงกว้างแล้ว ด้วยเหตุนี้ ความยืดหยุ่นในที่ทำงานจึงได้กลายมาเป็นความคาดหวังของพนักงาน Gen Z

    และจากการที่มากกว่า 1 ใน 3 ของคน Gen Z ที่สำเร็จการศึกษามองหาสัญญาการทำงานที่มีความยืดหยุ่นโดยเฉพาะ บริษัทต่างๆ จึงควรที่จะมอบความยืดหยุ่นให้กับพนักงานของตนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

  • สร้างวัฒนธรรมบริษัทในเชิงบวก

    เส้นแบ่งระหว่างการทำงานกับบ้านที่พร่าเลือนมากกว่าที่เคยส่งผลให้พนักงาน Gen Z คาดหวังว่าชีวิตการทำงานของตนจะให้ความรู้สึกที่ดีพอๆ กับชีวิตส่วนตัว พนักงาน Gen Z ต้องการรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าในที่ทำงานและต้องการให้สายสัมพันธ์ระหว่างตนกับเพื่อนร่วมงานและผู้จัดการนั้นมีความเป็นส่วนตัวมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

    การสร้างวัฒนธรรมบริษัทในเชิงบวกเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจแก่คน Gen Z ในที่ทำงาน คุณสามารถบรรลุสิ่งนี้ได้ผ่านการผสมผสานระหว่างการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ความโปร่งใสของธุรกิจ และการทำความเข้าใจถึงความคาดหวังต่างๆ ในแง่ของความก้าวหน้าในอาชีพ เงินเดือน และสวัสดิการ

  • มอบความมั่นคงทางการเงินและสิทธิประโยชน์ด้านความเป็นอยู่ที่ดี

    คน Gen Z ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจด้านการเงินพยายามที่จะสร้างความมั่นคง ทั้งยังตระหนักได้ด้วยเมื่อเงินเดือนและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ตนได้รับนั้นน้อยว่ามาตรฐาน คนเหล่านี้มีจำนวนมากถึงขนาดที่ 70% ของพนักงาน Gen Z ระบุว่าเงินเดือนเป็นแรงกระตุ้นอันดับต้นๆ ของตน นอกจากนี้ พนักงาน Gen Z ยังมีแนวโน้มจะให้ความสำคัญกับสิทธิประโยชน์ เช่น ประกันสุขภาพและสวัสดิการด้านความเป็นอยู่ที่ดีมากเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับสิทธิประโยชน์อย่างอาหารฟรีอีกด้วย

    ลองเสนอเงินเดือนที่สามารถแข่งกับบริษัทอื่นได้ รวมถึงสิทธิประโยชน์ที่คัดสรรมาเพื่อความต้องการของพนักงาน Gen Z โดยเฉพาะ บริษัทต่างๆ ควรพร้อมที่จะต่อรองและเปิดกว้างในการนำเสนอหรือแลกเปลี่ยนสวัสดิการต่างๆ ให้ตอบสนองกับความคาดหวังที่เปลี่ยนแปลงไปของพนักงาน

หัวข้อที่คุณอาจสนใจ

เชื่อมต่อถึงกันอยู่เสมอ

รับข่าวสารและข้อมูลเชิงลึกล่าสุดจากบุคลากรหน้างาน

เมื่อส่งแบบฟอร์มนี้ จะถือว่าคุณยินยอมที่จะรับการติดต่อสื่อสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับการตลาดจาก Facebook ซึ่งประกอบด้วยข่าวสาร กิจกรรม ข้อมูลอัพเดต และอีเมลส่งเสริมการขาย โดยคุณสามารถถอนความยินยอมและเลิกรับอีเมลดังกล่าวได้ทุกเมื่อ นอกจากนี้ คุณยังรับทราบว่าได้อ่านและยอมรับข้อกำหนดด้านความเป็นส่วนตัวบน Workplace แล้ว

บทความนี้มีประโยชน์หรือไม่
ขอบคุณสำหรับความเห็นของคุณ

โพสต์ล่าสุด

วัฒนธรรม | ใช้เวลาอ่าน 11 นาที

วัฒนธรรมในที่ทำงาน: วิธีสร้างวัฒนธรรมเชิงบวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

วัฒนธรรมในที่ทำงานมีความสำคัญยิ่งขึ้นในโลกของการทำงานแบบผสมผสานและการทำงานทางไกล ร่วมหาคำตอบว่าวัฒนธรรมในที่ทำงานคืออะไรและคุณจะสามารถปรับปรุงวัฒนธรรมนี้ได้อย่างไร

ความเป็นผู้นำ | ใช้เวลาอ่าน 4 นาที

3 บทเรียนที่ผู้นำได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง

ประสบการณ์ที่พวกเขาพบเจอในชีวิตจริงจะเป็นตัวกำหนดว่าคนคนหนึ่งจะเติบโตขึ้นมาเป็นอย่างไรและสามารถกำหนดแนวทางของการเป็นผู้นำได้ มาดู 3 ตัวอย่างที่เราคัดมาแล้วว่าดีที่สุดกัน

วัฒนธรรม | ใช้เวลาอ่าน 8 นาที

วัฒนธรรมองค์กร 4 ประเภท: แบบใดดีที่สุดสำหรับธุรกิจ

ตัวตนของธุรกิจเป็นการผสมผสานที่ไม่เหมือนใครของวัฒนธรรมต่างๆ ขององค์กร ดูว่าคุณจะค้นหาตัวตนของธุรกิจและใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของตัวตนนั้นได้อย่างไร