การวัดการมีส่วนร่วมของพนักงาน: สุดยอดเครื่องมือและเคล็ดลับ

คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าพนักงานทุ่มเทให้กับองค์กรของคุณจริงๆ หรือทำไปเพราะเป็นหน้าที่ ฉะนั้น คุณควรมีวิธีที่ดีกว่าการเดาสุ่มเพื่อหาคำตอบให้แน่ชัดว่าพนักงานมีส่วนร่วมหรือไม่ ต่อไปนี้เป็นวิธีวัดการมีส่วนร่วมของพนักงานในช่วงหลังการระบาดของโรคโควิดและในอนาคต

ขจัดปัญหาในที่ทำงานด้วย Workplace

ตั้งแต่การแจ้งให้ทุกคนทราบเกี่ยวกับการกลับสู่ที่ทำงาน ไปจนถึงการปรับใช้วิธีการทำงานแบบผสมผสาน Workplace ก็สามารถทำให้การทำงานเป็นเรื่องง่ายกว่าเดิมได้

เราสามารถวัดหลายๆ สิ่งได้โดยง่าย เช่น คุณดื่มกาแฟกี่ถ้วยในหนึ่งวัน หรือคุณใช้เวลาเดินทางไปทำงานนานแค่ไหนในหนึ่งปี แต่พอเป็นเรื่องการมีส่วนร่วมของพนักงานแล้ว การวัดผลก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการมีส่วนร่วมนั้นมักจะมีเรื่องทัศนคติและอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นการวัดผลจึงอาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยหลายอย่าง อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะ "การมีส่วนร่วมของพนักงาน" ไม่ใช่แนวคิดที่จะอธิบายเป็นคำพูดให้เข้าใจได้โดยง่าย คุณจะต้องพิจารณาแรงจูงใจของพนักงาน การมีส่วนร่วมของทีม การมีส่วนร่วมกับงาน และอื่นๆ อีกมากมาย

การมีส่วนร่วมของพนักงานจึงเป็นความท้าทายที่องค์กรต้องฝ่าไปให้ได้ ทำไมน่ะเหรอ เพราะพนักงานที่มีส่วนร่วมสูงมักจะมีผลิตภาพ มีความกระตือรือร้น และมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าปกติ นอกจากนี้ยังทุ่มเทใส่ใจเพื่อให้องค์กรได้รับผลกำไรมากขึ้นด้วย

การมีส่วนร่วมในการทำงานช่วงหลังโควิด

การมีส่วนร่วมในการทำงานช่วงหลังโควิด

เมื่อโลกเปลี่ยนวิถีการทำงานไปจนต่างจากเดิมหลังเกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลกของไวรัสโคโรน่า เราก็ยิ่งต้องรู้ว่าผู้คนยังคงรู้สึกผูกพันกับองค์กรเหมือนอย่างเคยอยู่หรือไม่

หลายคนพบว่าชีวิตของตนเปลี่ยนไปหลังเปลี่ยนมาทำงานทางไกลจากที่เคยคุ้นเคยกับการเข้าออฟฟิศตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น เพราะตอนนี้พวกเขากำลังผจญกับความเอาแน่เอานอนไม่ได้ ไม่มีใครรู้ว่าโลกแห่งการทำงานจะเป็นอย่างไรในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นเพราะผู้คนมีโอกาสได้ร่วมกันออกแบบวิถีทางของการทำงานในวันพรุ่งนี้ แต่ขณะเดียวกันก็ให้ความรู้สึกน่ากลัวอยู่ไม่น้อย คุณจะต้องรู้ให้ได้ว่าพนักงานกำลังอ้าแขนรับการเปลี่ยนแปลงนี้อยู่ไหม หรือจิตใจของพวกเขากำลังสั่นคลอนเพราะความไม่แน่นอน

การวัดผลว่าพนักงานรู้สึกอย่างไรกับช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่การทำงานในยุคความปกติรูปแบบใหม่จึงเป็นสิ่งสำคัญ ผู้จัดการจะต้องสอบถามพนักงานอย่างสม่ำเสมอเมื่อทำงานทางไกล ส่วนองค์กรอาจต้องสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการให้พนักงานกลับเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศ สืบหาปัญหาและหาวิธีจัดการ เมื่อพนักงานกลับมาทำงานในที่ทำงานแล้ว คุณจะต้องตรวจสอบกับพนักงานอยู่เรื่อยๆ โดยใช้ทั้งวิธีสอบถามตัวต่อตัวและวิธีทำแบบสำรวจความพึงพอใจเป็นประจำทุกเดือนเพื่อดูว่ามีปัญหาใหม่ๆ บ้างหรือไม่

วิธีวัดการมีส่วนร่วมของพนักงาน

วิธีวัดการมีส่วนร่วมของพนักงาน

การมีส่วนร่วมของพนักงานประกอบด้วยปัจจัยรอบด้าน และคุณไม่สามารถวัดผลได้ด้วยเครื่องมือหรือวิธีการแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น คุณอาจอยากรู้ว่าพนักงานรู้สึกอย่างไรกับองค์กร การทำงาน และวัฒนธรรมของบริษัท ระดับการมีส่วนร่วมของพนักงานผกผันไปอย่างไรเมื่อมีสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การทำงานทางไกล และการแบ่งระดับการมีส่วนร่วมออกเป็นระดับต่างๆ จะแสดงให้เห็นพฤติกรรมของพนักงานได้อย่างไรบ้าง คุณสามารถใช้เครื่องมือและวิธีการวัดผลหลากหลายรูปแบบเพื่อหาคำตอบให้คำถามเหล่านี้ได้

การสร้างวัฒนธรรมที่มีการสอบถามเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมจากพนักงานก็อาจเป็นเรื่องที่ดีได้ เนื่องจากพนักงานที่รู้สึกว่าบริษัทรับฟังเสียงของตนนั้นมีแนวโน้มที่จะรู้สึกมุ่งมั่นในการทำงานให้ออกมาดีที่สุดมากกว่าปกติเกือบห้าเท่า แต่แค่การรับฟังเสียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ก่อนที่จะลองวัดผลการมีส่วนร่วม ลองคิดถึงคำถามที่สำคัญเหล่านี้ดูก่อน

  • ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบด้านการติดตามผลหลังได้รับผลแบบสอบถาม การสัมภาษณ์ หรือการวิจัย
  • คุณมีเครื่องมือที่เหมาะสมกับการวิเคราะห์ผลหรือไม่
  • คุณจะดำเนินการเกี่ยวกับผลลัพธ์ที่ได้อย่างไร
  • คุณจะนำการดำเนินการนั้นไปใช้งานจริงอย่างไร

หาคำตอบให้คำถามเหล่านี้ก่อนจึงจะสามารถเริ่มเปลี่ยนผลลัพธ์เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมที่คุณพบให้เป็นการพัฒนาได้

การวัดการมีส่วนร่วมของพนักงาน: แบบสำรวจ

การวัดการมีส่วนร่วมของพนักงาน: แบบสำรวจ

แบบสำรวจความพึงพอใจ

คืออะไร แบบสอบถามสั้นๆ ที่มีคำถามสูงสุดประมาณ 15 ข้อที่ทำเป็นประจำ แบบสำรวจความพึงพอใจเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมสำหรับการวัดความรู้สึกของคนในองค์กรแบบเรียลไทม์ เปรียบเสมือนการวัดชีพจร เนื่องจากการรายงานตัวเพื่อพิจารณาประสิทธิภาพในการทำงานปีละสองครั้ง หรือการทำแบบสำรวจการมีส่วนร่วมรายปีนั้นยังไม่เพียงพอ คุณต้องได้รับรู้สิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวกับความรู้สึกของพนักงานอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้คุณสามารถจัดการกับปัญหาได้ทันท่วงที

ลักษณะเป็นอย่างไร แบบสำรวจความพึงพอใจทั่วๆ ไปมักขอให้ผู้ทำแบบสำรวจแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาในการทำงานโดยให้คะแนนตั้งแต่ 1 ถึง 10 หรือให้ตอบตามระดับความรู้สึก เช่น ไม่เห็นด้วยอย่างมาก | ไม่เห็นด้วย | เฉยๆ | เห็นด้วย | เห็นด้วยอย่างมาก

วิธีจัดทำแบบสำรวจความพึงพอใจ ก่อนอื่น คุณต้องรู้ว่าคุณกำลังพยายามใช้แบบสำรวจเพื่อบรรลุเป้าหมายใด คุณกำลังวัดผลการมีส่วนร่วมในแง่มุมใด ส่งแบบสำรวจความพึงพอใจให้พนักงานทำเป็นประจำ เช่น เดือนละครั้ง หรือเป็นช่วงๆ โดยให้เหมาะสมกับสิ่งที่คุณต้องการวัดผล ตัวอย่างเช่น คุณอาจต้องการส่งแบบสำรวจความรู้สึกระหว่างก่อนและหลังกลับเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศ ลองตั้งค่าแบบสำรวจนี้ให้เป็นอัตโนมัติดูด้วยก็ได้ Mood Bot ของ Workplace จะส่งชุดคำถามซึ่งปรับแต่งได้ให้แก่พนักงานผ่านทาง Workplace Chat เมื่อพนักงานตอบแบบสำรวจของคุณแล้ว คุณต้องเปิดเผยผลลัพธ์ให้พนักงานทราบ และลงมือแก้ไขปัญหา

ดัชนีความพึงพอใจของพนักงาน (eNPS)

คืออะไร องค์กรต่างๆ ใช้ดัชนีความพึงพอใจของลูกค้าเป็นตัววัดผลความพึงพอใจของลูกค้า คุณคำนวณดัชนีนี้ได้โดยการสอบถามลูกค้าว่าพวกเขามีแนวโน้มมากน้อยเพียงใดที่จะแนะนำสินค้าหรือบริการของคุณให้แก่ครอบครัวหรือเพื่อนๆ ส่วนดัชนีความพึงพอใจของพนักงานเองก็มีลักษณะคล้ายคลึงกัน เว้นแต่ว่าดัชนีนี้จะวัดผลว่าพนักงานมีแนวโน้มมากน้อยเพียงใดที่จะแนะนำองค์กรของคุณว่าเป็นสถานที่ที่น่าทำงาน โดยให้คะแนนได้ตั้งแต่ 1-10 วิธีนี้ถือได้ว่าเป็นวิธีที่ง่ายและรวดเร็วสำหรับการเก็บข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับความรู้สึกที่พนักงานมีต่อบริษัทของคุณ

ลักษณะเป็นอย่างไร ดัชนีความพึงพอใจของพนักงานแบ่งผู้คนออกเป็นสามกลุ่มตามการให้คะแนน

  • กลุ่มผู้สนับสนุน (Promoters) คือผู้ที่ให้ 9 หรือ 10 คะแนน กล่าวคือเป็นผู้ที่ภักดีและมีส่วนร่วมมากที่สุด
  • กลุ่มผู้เป็นกลาง (Passives) คือผู้ที่ให้ 7-8 คะแนน ซึ่งไม่ใช่กลุ่มพนักงานที่เพิกเฉย แต่ก็ไม่ได้มีส่วนร่วมเช่นกัน
  • กลุ่มผู้ไม่พอใจ (Detractors) คือพนักงานที่เลือกให้คะแนนตั้งแต่ 0-6 ซึ่งมีแนวโน้มที่จะแนะนำให้บริษัทของคุณเป็นที่ที่น่าทำงานน้อยที่สุด และอาจมีความรู้สึกต่อต้านองค์กรอยู่

วิธีคิดดัชนีความพึงพอใจของพนักงานสำหรับบริษัทของคุณ

จำนวนกลุ่มผู้สนับสนุน - (จำนวนกลุ่มผู้ไม่พอใจ / จำนวนการให้คะแนนทั้งหมด) x 100

หากคะแนนขององค์กรมากกว่า +10 แสดงว่าองค์กรของคุณไปได้สวย แต่จะยอดเยี่ยมมากหากองค์กรได้คะแนนตั้งแต่ +75 ถึง 100

วิธีจัดทำแบบสอบถามวัดดัชนีความพึงพอใจของพนักงาน: คุณควรจัดทำดัชนีความพึงพอใจของพนักงานอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้มองเห็นความคืบหน้าหรือการเปลี่ยนแปลง และให้พนักงานทำแบบสอบถามให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อให้เห็นภาพรวมได้อย่างชัดเจนที่สุด

ดัชนีความพึงพอใจของพนักงานมีความน่าสนใจเนื่องจากเป็นแบบสำรวจที่เรียบง่าย แต่การให้พนักงานตอบคำถามเพียงข้อเดียวไม่สามารถบอกได้ว่าทำไมพวกเขาจึงรู้สึกเช่นนั้น คุณต้องไม่ลืมถามเหตุผลที่ทำให้พนักงานเลือกให้คะแนนดังกล่าว และนำคำติชมที่ได้รับไปปรับแก้ไข

แบบสำรวจการมีส่วนร่วมของพนักงาน

คืออะไร แบบสอบถามในวงกว้างนี้เน้นที่สิ่งขับเคลื่อนให้เกิดการมีส่วนร่วม ได้แก่ สุขภาวะ วัฒนธรรมองค์กร การเปิดกว้าง ความเป็นอิสระ และการสื่อสาร คุณอาจถามพนักงานเกี่ยวกับความรู้สึกของพวกเขาที่มีต่อผู้จัดการ ผู้นำและเป้าหมายขององค์กร รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานกับทีมของตน ลองพิจารณาจัดทำแบบสำรวจนี้หนึ่งหรือสองครั้งต่อปี

ลักษณะเป็นอย่างไร คล้ายคลึงกับแบบสำรวจความพึงพอใจ แต่แบบสำรวจการมีส่วนร่วมของพนักงานมักใช้ระบบให้คะแนนแบบ 1-10 หรือลำดับการให้ความเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย รวมถึงใช้คำถามปลายเปิดเพื่อให้ได้ความคิดเห็นที่ละเอียดกว่า

วิธีจัดทำแบบสำรวจการมีส่วนร่วมของพนักงาน: บอกจุดประสงค์ที่คุณต้องการบรรลุเป้าหมายให้ชัดเจน เปิดเผยผลลัพธ์ให้พนักงานที่ทำแบบสำรวจทราบ และลงมือแก้ไขปัญหาใดๆ ที่พบ

การวัดการมีส่วนร่วมของพนักงาน: การสัมภาษณ์

การวัดการมีส่วนร่วมของพนักงาน: การสัมภาษณ์

การพูดคุยตัวต่อตัว

คืออะไร การพบปะตัวต่อตัวเป็นวิธีวัดผลการมีส่วนร่วมอีกวิธีหนึ่งที่เป็นกันเองมากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังมีประโยชน์สำหรับการเก็บความคิดเห็นในด้านที่พนักงานรู้สึกว่าตนมีความเกี่ยวข้อง และในด้านที่องค์กรของคุณสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้ การพูดคุยแบบง่ายๆ สบายๆ อาจมอบคุณค่าให้แก่คุณได้มาก เนื่องจากพนักงาน Gen Y เกือบ 85% กล่าวว่า ตนจะรู้สึกมั่นใจมากขึ้นหากได้พูดคุยกับผู้จัดการของตนบ่อยๆ

ลักษณะเป็นอย่างไร ผู้จัดการสามารถนัดหมายการพูดคุยอย่างสม่ำเสมอได้ เช่น เดือนละครั้ง หรือสามเดือนต่อครั้ง หากทีมพนักงานกำลังทำงานทางไกล คุณก็ควรนัดหมายการพูดคุยให้ถี่ขึ้นอีก เช่น ราวสองสัปดาห์ต่อครั้ง

วิธีจัดการพูดคุยตัวต่อตัว: การพูดคุยตัวต่อตัวอาจเป็นวิธีที่ให้ความรู้สึกเป็นกันเอง แต่ก็ควรตรงประเด็น ต้องรู้ก่อนว่าคุณต้องการได้อะไรจากการพูดคุยนี้ ลองถามคำถามและเว้นจังหวะให้พนักงานตอบ รับฟังพวกเขาอย่างตั้งใจ รวมถึงถามคำถามปลายเปิดซึ่งจะช่วยให้พนักงานสามารถพูดถึงปัญหาอื่นๆ ได้ จากนั้นให้คำแนะนำในการจัดการปัญหา แล้วจึงติดตามผลจากพนักงานในการพูดคุยตัวต่อตัวครั้งหน้า

การสัมภาษณ์พนักงานที่ตัดสินใจลาออก

คืออะไร คุณควรพูดคุยกับพนักงานที่ตัดสินใจลาออกจากองค์กร การเก็บข้อมูลด้านการมีส่วนร่วมจากพนักงานที่กำลังจะลาออกจากบริษัทอาจฟังดูแปลกไปบ้าง แต่พนักงานเหล่านี้สามารถช่วยให้คุณทราบเกี่ยวกับประสบการณ์ที่พนักงานดังกล่าวได้รับจากองค์กร เปิดเผยปัญหาที่ซุกซ่อนอยู่ และพูดคุยถึงประเด็นต่างๆ ได้

ลักษณะเป็นอย่างไร ควรมีการนัดหมายพูดคุยเมื่อถึงวันสุดท้ายในการทำงานของพนักงานรายดังกล่าว โดยให้ผู้สัมภาษณ์เป็นใครก็ได้ที่ไม่ใช่ผู้จัดการสายงาน และการสัมภาษณ์พนักงานที่ตัดสินใจลาออกควรเป็นการพูดคุยตัวต่อตัว หรือเป็นการวิดีโอคอลหากพนักงานกำลังทำงานทางไกล ไม่ควรใช้วิธีเขียนข้อความ เนื่องจากวิธีนี้จะช่วยให้คุณถามคำถามต่อยอดออกไปได้

วิธีจัดการสัมภาษณ์พนักงานที่ตัดสินใจลาออก: คุณควรวางแผนคำถามสำหรับใช้สัมภาษณ์พนักงานที่ตัดสินใจลาออก โดยคุณควรถามเหตุผลที่ทำให้พนักงานตัดสินใจลาออก ความรู้สึกของพนักงานที่มีต่อบริษัท สิ่งที่พนักงานคิดว่าตนทำได้ดี และสิ่งที่พนักงานคิดว่าองค์กรควรปรับปรุง

การวัดการมีส่วนร่วม: การวิจัย

การวัดการมีส่วนร่วม: การวิจัย

การสนทนากลุ่ม

คืออะไร การสนทนากลุ่มถูกนำมาใช้ในการวิจัยการตลาดอยู่บ่อยครั้งเพื่อเก็บข้อมูลมุมมองที่ผู้คนมีต่อผลิตภัณฑ์ แต่คุณสามารถนำการสนทนาเช่นนี้มาใช้ในการสอดส่องดูแลปัญหาของพนักงานได้ด้วย แม้ว่าผู้คนที่เข้าร่วมในการสนทนากลุ่มจะมีจำนวนน้อยกว่าการทำแบบสอบถาม แต่วิธีนี้จะช่วยคุณเจาะลึกทัศนคติของพนักงานได้ อีกทั้งยังช่วยเปิดเผยอุปสรรคที่ขัดขวางการมีส่วนร่วม

ลักษณะเป็นอย่างไร คุณสามารถตั้งกลุ่มเพื่อสนทนาเกี่ยวกับหัวข้อหนึ่งๆ หรือเกี่ยวกับผลลัพธ์ที่ได้จากการทำแบบสำรวจการมีส่วนร่วมของพนักงานได้

วิธีจัดการสนทนากลุ่ม: ก่อนอื่น คุณต้องมีจุดประสงค์ที่แน่ชัดสำหรับการพูดคุย กลุ่มสนทนานี้ "เน้น" เรื่องอะไร และกลุ่มสนทนานี้ต้องการบรรลุเป้าหมายใด เลือกคำถามและผู้เข้าร่วมการสนทนาโดยจำนวนผู้เข้าร่วมที่ดีที่สุดคือระหว่าง 6 ถึง 12 คน ผู้ควบคุมการสนทนาจะเป็นผู้นำการพูดคุย ซึ่งควรจะเป็นใครก็ได้ที่มีความเป็นกลางและไม่ได้เป็นผู้จัดการของคนใดคนหนึ่งในกลุ่ม เนื่องจากผู้เข้าร่วมควรจะรู้สึกว่าตนสามารถพูดคุยได้อย่างมีอิสระ

การรักษาบุคลากรไว้กับองค์กร

ทำไมจึงควรใส่ใจกับการรักษาบุคลากรไว้กับองค์กร การรักษาบุคลากรไว้กับองค์กรและการมีส่วนร่วมของพนักงานมีส่วนเกี่ยวข้องกันอย่างมาก การสร้างทีมพนักงานที่เหนียวแน่นจะทำให้การรักษาพนักงานฝีมือเยี่ยมไว้เป็นเรื่องง่ายขึ้น ในขณะที่พนักงานที่เพิกเฉยอาจมีแนวโน้มที่จะลาออกมากกว่า อัตราการออกจากงานของพนักงานอาจเป็นตัวชี้วัดการมีส่วนร่วมของพนักงานที่ดี เพราะคุณจะรู้ว่าคุณมีปัญหาที่ต้องจัดการถ้าหากอัตรานี้มีค่าสูง

สิ่งที่ต้องพิจารณา: นอกเหนือจากการพิจารณาอัตราการหมุนเวียนของพนักงานแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ควรทำคือการแยกย่อยข้อมูลออกเป็นหมวดหมู่ เช่น กลุ่มอายุและเพศ ตัวอย่างเช่น คุณควรดูว่าเปอร์เซ็นต์ของพนักงานเพศหญิงที่ลาออกจากบริษัทมีมากกว่าเพศชายหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้น แล้วอะไรคือสาเหตุ คุณอาจต้องปรับปรุงเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในบริษัทหรือไม่ และคุณจะลงมือทำได้อย่างไร

การวิเคราะห์ข้อมูลคนในองค์กร

ทำไมจึงควรใส่ใจกับการวิเคราะห์ข้อมูลคนในองค์กร องค์กรของคุณอาจมีข้อมูลจำนวนมากที่ถูกมองข้าม วิธีหนึ่งในการติดตามการมีส่วนร่วมในองค์กรคือการนำข้อมูลนั้นมาวิเคราะห์ โดยพิจารณาดูหลายๆ ปัจจัย

Measuring employee engagement

การวัดการมีส่วนร่วมของพนักงานโดยใช้ข้อมูลเชิงลึกบน Workplace

สิ่งที่ต้องพิจารณา: ข้อมูลบางอย่าง เช่น ผลการทำแบบสำรวจ นั้นเกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมโดยตรง ข้อมูลอย่างเช่น เวลาการทำงานและจำนวนครั้งในการลางาน อาจบ่งชี้ระดับของการมีส่วนร่วมได้ ตัวอย่างเช่น ข้อมูลจำนวนพนักงานที่รับผิดชอบงานเพิ่มขึ้นในเวลาส่วนตัวของตนอาจเตือนให้คุณรู้ล่วงหน้าได้ว่าพนักงานกำลังจะเข้าสู่ภาวะหมดไฟ การลางานบ่อยครั้งอาจเป็นสัญญาณเตือนของความเฉื่อยชา และยังเป็นตัวบงชี้ว่าองค์กรของคุณต้องปรับปรุงสุขภาวะของพนักงานให้ดีขึ้น

เกณฑ์ชี้วัดประสิทธิภาพการทำงาน

ทำไมจึงควรใส่ใจกับประสิทธิภาพการทำงาน เช่นเดียวกับการรักษาบุคลากรไว้กับองค์กร ประสิทธิภาพการทำงานมีความเกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมอย่างมาก เนื่องจากพนักงานที่มีส่วนร่วมมักมีประสิทธิภาพในการทำงานมากกว่าพนักงานทั่วไปถึง 44% และองค์กรที่มีรายงานการมีส่วนร่วมที่ดีก็สามารถทำกำไรได้มากกว่าถึง 21% อีกด้วย ในทางกลับกัน หากอัตราประสิทธิภาพในการทำงานโดยรวมลดต่ำลง หรือคุณพบว่าสมาชิกในทีมสามารถผลิตผลงานได้น้อยลง คุณก็อาจมีปัญหาเรื่องการมีส่วนร่วมแล้ว

สิ่งที่ต้องพิจารณา: เกณฑ์ชี้วัดประสิทธิภาพการทำงานอาจมีหลากหลาย ขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจของคุณ วิธีง่ายๆ คือการนำรายได้มาหารด้วยจำนวนพนักงาน หรือคุณอาจต้องการเปรียบเทียบระหว่างแผนกและทีมโดยดูที่แต่ละช่วงของอัตราประสิทธิภาพการทำงาน ทั้งช่วงขาขึ้นและขาลง และการดูผลงานโดยพิจารณาที่งานใดงานหนึ่งอาจช่วยคุณวัดระดับประสิทธิภาพการทำงานในแต่ละเกณฑ์ได้

วิธีนำผลลัพธ์จากการวัดผลการมีส่วนร่วมของพนักงานไปใช้

วิธีนำผลลัพธ์จากการวัดผลการมีส่วนร่วมของพนักงานไปใช้

การรวบรวมความคิดเห็นเพียงอย่างเดียวไม่ช่วยสร้างวัฒนธรรมแห่งการมีส่วนร่วมขององค์กร หากแต่คุณต้องลงมือทำโดยอิงจากผลลัพธ์ที่ได้ แต่น่าเศร้าที่ส่วนใหญ่ไม่เป็นเช่นนั้น แม้ 60% ของพนักงานชาวสหรัฐอเมริกาได้กล่าวไว้ว่าตนเคยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประสบการณ์การทำงานของตน แต่มีเพียง 30% เท่านั้นที่กล่าวว่านายจ้างของตนตอบสนองต่อความคิดเห็นนั้น การกระทำเช่นนี้อาจนำไปสู่ความรู้สึกหมางเมินและไม่ไว้วางใจ ยิ่งหากคุณมักขอให้พนักงานตอบคำถามเกี่ยวกับประสบการณ์ของพวกเขาอยู่บ่อยๆ แต่ไม่เคยบอกเกี่ยวกับผลลัพธ์ให้ทราบหรือลงมือแก้ไขปัญหาเลย ก็อาจมีแนวโน้มมากขึ้นที่พนักงานจะรู้สึกเพิกเฉย

การสื่อสารคือหัวใจสำคัญ:

  • บอกให้พนักงานรู้ว่าคุณต้องการนำความคิดเห็นไปทำอะไร
  • เผยแพร่ผลการทำแบบสำรวจ โดยเปิดเผยทั้งคำตอบในแง่บวกและแง่ลบ
  • บอกว่าคุณจะดำเนินการกับผลสำรวจอย่างไร
  • หากคุณไม่สามารถลงมือได้ ให้อธิบายเหตุผลด้วย
  • หมั่นอัพเดตสิ่งที่คุณทำ และควรทำให้เสร็จตรงเวลาที่ตกลงกับพนักงานไว้

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ หมั่นซักถาม รับฟัง และสอดส่องดูแลองค์กรของคุณ ด้วยวิธีเช่นนี้ คุณจะสามารถสร้างวัฒนธรรมแห่งการมีส่วนร่วมของพนักงานซึ่งจะช่วยให้องค์กรของคุณเจริญรุ่งเรืองและเติบโต

เชื่อมต่อถึงกันอยู่เสมอ

รับข่าวสารและข้อมูลเชิงลึกล่าสุดจากบุคลากรหน้างาน

เมื่อส่งแบบฟอร์มนี้ จะถือว่าคุณยินยอมที่จะรับการติดต่อสื่อสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับการตลาดจาก Facebook ซึ่งประกอบด้วยข่าวสาร กิจกรรม ข้อมูลอัพเดต และอีเมลส่งเสริมการขาย คุณสามารถถอนความยินยอมและเลิกรับอีเมลดังกล่าวได้ทุกเมื่อ นอกจากนี้ คุณยังรับทราบว่าได้อ่านและยอมรับข้อกำหนดด้านความเป็นส่วนตัวบน Workplace แล้ว

บทความนี้มีประโยชน์หรือไม่
ขอบคุณสำหรับความเห็นของคุณ

โพสต์ล่าสุด

การสื่อสารทางธุรกิจ | ใช้เวลาอ่าน 9 นาที

อธิบายการสื่อสารทางธุรกิจ

ธุรกิจของคุณขึ้นอยู่กับการแชร์ข้อมูลอย่างประสบความสำเร็จ และขึ้นอยู่กับพนักงานของคุณด้วย ถึงกระนั้น 66% ของบริษัทก็ยังคงขาดแผนระยะยาวสำหรับการสื่อสารทางธุรกิจอยู่ดี แล้วทำไมสิ่งนี้จึงถือเป็นข้อผิดพลาดร้ายแรง อะไรคืออุปสรรคสำหรับการสื่อสารที่พบอยู่บ่อยครั้ง และคุณจะหลีกเลี่ยงอุปสรรคนั้นได้อย่างไร

การทำงานจากทางไกล | ใช้เวลาอ่าน 6 นาที

นโยบายการทำงานจากทางไกล: เคล็ดลับจากผู้เชี่ยวชาญ

อ่านเคล็ดลับจากผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับวิธีรวบรวมและปรับใช้นโยบายการทำงานจากทางไกล