ค่านิยมขององค์กรคืออะไรและเหตุใดจึงมีความสำคัญ

ค่านิยมขององค์กรที่ชัดเจนมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อองค์กรของคุณ ตั้งแต่การสร้างบรรยากาศของวัฒนธรรมองค์กรในเชิงบวกไปจนถึงการจัดทำจรรยาบรรณสำหรับพนักงาน เรามาทำความเข้าใจกันว่าค่านิยมที่มีประสิทธิภาพนั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไรและมีรูปแบบการทำงานอย่างไร

วัฒนธรรม | ใช้เวลาอ่าน 8 นาที
organizational values - Workplace from Meta

ค่านิยมขององค์กรเป็นชุดความเชื่อหลักที่องค์กรนั้นๆ ยึดถือ ค่านิยมเหล่านั้นอาจเกี่ยวข้องกับหลักการที่กำกับดูแลธุรกิจ ปรัชญาของธุรกิจนั้นๆ หรือความคาดหวังว่าพนักงานที่ทำงานให้กับองค์กรดังกล่าวจะปฏิบัติตาม ค่านิยมจึงเป็นสิ่งที่อยู่เหนือสิ่งอื่นๆ อีกทีหนึ่ง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่ทำหน้าที่เป็นแนวทางที่บริษัทนั้นๆ ควรนำไปใช้กับการดำเนินการทั้งหมดและการมีปฏิสัมพันธ์ต่างๆ ดังที่มีคนให้คำอธิบายไว้ว่า "ค่านิยมขององค์กรทำหน้าที่เป็นแนวทางที่บอกว่าสิ่งใดทำแล้วดีและมีความสำคัญต่อองค์กรนั้นๆ"

ค่านิยมจึงช่วยกำหนดบุคลิกขององค์กร ช่วยให้องค์กรนั้นโดดเด่นกว่าองค์กรอื่นๆ สามารถประกาศจุดยืนของบริษัทและสิ่งที่บริษัทเชื่อมั่น ทั้งยังช่วยให้ผู้คนมีจุดโฟกัส ตลอดจนความรู้สึกถึงจุดมุ่งหมายและการมีส่วนร่วมที่มากขึ้น ซึ่งเป็นการตอกย้ำถึงเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นของบริษัทและส่งผลต่อการตัดสินใจและการทำงานในทุกๆ วัน จุดที่สำคัญมากๆ เลยก็คือ ค่านิยมขององค์กรทำหน้าที่เป็นองค์ประกอบหนึ่งของวัฒนธรรมในที่ทำงาน ซึ่งช่วยให้พนักงานมีจุดอ้างอิงที่มีความมั่นคงแม้จะอยู่ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงก็ตาม

แน่นอนว่า ค่านิยมที่ดีที่สุดจะทำหน้าที่ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ โดยมอบกรอบการทำงานเพื่อความสำเร็จและส่งเสริมจริยธรรมให้กับทั่วทั้งบริษัทไปพร้อมๆ กัน

เรียนรู้ว่าผู้นำด้านทรัพยากรบุคคลทั่วโลกสร้างวัฒนธรรมองค์กรได้อย่างไร

ดาวน์โหลดเคล็ดลับมืออาชีพทั้ง 6 ข้อเพื่อค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างการมีส่วนร่วมของพนักงานและวัฒนธรรมองค์กร

ค่านิยมกับคำแถลงพันธกิจขององค์กรแตกต่างกันอย่างไร

ค่านิยมกับคำแถลงพันธกิจขององค์กรแตกต่างกันอย่างไร

ค่านิยมและคำแถลงพันธกิจนั้นทำงานร่วมกันเพื่อสร้างรากฐานของวัฒนธรรมในที่ทำงาน โดยที่คำแถลงพันธกิจจะเป็นตัวบ่งบอกว่าบริษัทกำลังจะเดินหน้าไปในทิศทางใด ส่วนค่านิยมนั้นจะบ่งบอกว่าบริษัทดังกล่าวจะดำเนินการตามพันธกิจด้วยวิธีการใด

5 เหตุผลที่คุณควรกำหนดค่านิยมขององค์กร

5 เหตุผลที่คุณควรกำหนดค่านิยมขององค์กร

บางองค์กรอาจรู้สึกว่าตนมีค่านิยมของตนเองอยู่แล้วและพนักงานทุกคนก็ทราบดีว่ามีอะไรบ้าง ทว่าความเข้าใจแบบเป็นนัยอย่างเดียวนั้นยังไม่พอ หากคุณไม่กำหนดและประกาศค่านิยมของคุณอย่างชัดเจน ผู้คนก็อาจมีแนวคิดในเรื่องนี้ที่แตกต่างกันออกไปอย่างมากและปฏิบัติตามแนวคิดนั้นๆ นอกจากนี้ องค์กรเองก็จะไม่ได้รับประโยชน์จากการประกาศค่านิยมไปสู่สายตาชาวโลก ซึ่งรวมถึงลูกค้าและสื่อต่างๆ อีกด้วย

ชุดค่านิยมที่มีการกำหนดอย่างชัดเจนมีประโยชน์ดังต่อไปนี้

  1. ดึงดูดผู้ที่มีความสามารถ

    ค่านิยมขององค์กรสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมหาศาลเมื่อว่าที่พนักงานคนใหม่ชั่งน้ำหนักการตัดสินใจก้าวต่อไปในหน้าที่การงานของตนเอง เงินเดือนและสวัสดิการต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีบทบาทในการตัดสินใจดังกล่าว แต่ผู้หางานเองก็ต้องการทราบด้วยเช่นกันว่าองค์กรนั้นๆ มีหลักการที่เข้ากับตนเองด้วยหรือไม่

    งานวิจัยแสดงให้เห็นว่า 71% ของบุคลากรระดับมืออาชีพเลือกที่จะลดเงินเดือนของตนเองเพื่อเข้าทำงานในธุรกิจที่มีค่านิยมเดียวกับตน ในขณะที่ 39% ของบุคลากรระดับมืออาชีพเลือกที่จะออกจากงานปัจจุบันของตน หากนายจ้างขอให้ตนทำอะไรบางอย่างที่ตนมองว่าผิดศีลธรรม

  2. ทำให้คุณแตกต่างจากคู่แข่ง

    ในตลาดที่มีการแข่งขันสูง ผู้บริโภคเลือกที่พิจารณาสิ่งต่างๆ มากกว่าแค่สินค้า บริการ และราคา ข้อมูลจาก Forrester ระบุว่า 52% ของผู้ใหญ่ในสหรัฐฯ ทั้งหมดเลือกที่จะพิจารณาค่านิยมของแบรนด์ก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าทางออนไลน์ โดยตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 7 ใน 10 ของผู้บริโภคที่เป็นคนยุคมิลเลนเนียล นอกจากนี้ บริษัทจัดทำวิจัยทางการตลาดแห่งนี้ยังพบอีกด้วยว่า คนรุ่นเก่าเองก็ให้ความสำคัญกับค่านิยมขององค์กรมากขึ้นด้วยเช่นกัน

    หลักการเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อผลกำไรมากกว่าที่เจ้าของธุรกิจบางรายคิด โดย 71% ของคนยุคมิลเลนเนียลเลือกที่จะซื้อสินค้าในราคาที่สูงขึ้นหากทราบว่ารายได้บางส่วนจะนำไปบริจาคเพื่อการกุศล ดังนั้น ความพยายามเล็กๆ น้อยๆ เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นจึงสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ให้กับผลประกอบการของคุณได้

  3. สร้างบรรยากาศในการทำงานที่ปลอดภัย

    ชุดค่านิยมที่ผ่านการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจะช่วยให้พนักงานทราบเกี่ยวกับจรรยาบรรณในการทำงาน โดยค่านิยมดังกล่าวจะเป็นแนวทางปฏิบัติตนในแง่ของการมีปฏิสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับอาชีพการงาน สังคม ตลอดจนการมีปฏิสัมพันธ์ทางกายภาพและบนโลกออนไลน์ที่ทุกคนสามารถเข้าใจและรู้สึกสบายใจที่จะทำ ซึ่งหากองค์กรจัดทำค่านิยมเหล่านี้ออกมาดี สิ่งนี้ก็จะช่วยสร้างความรู้สึกปลอดภัยได้เป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น การให้ความสำคัญกับความยุติธรรมมาเป็นอันดับหนึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจว่าองค์กรของคุณจะสามารถระบุและรับมือกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้

    ผู้จัดการและสมาชิกในทีมจะทราบว่าตนสามารถคาดหวังสิ่งใดจากอีกฝ่ายได้บ้าง เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จึงไม่เกิดขึ้น

  4. ยกระดับการสื่อสาร

    ชุดค่านิยมที่เข้มแข็งช่วยให้พนักงานสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าและเพื่อนร่วมงานในลักษณะที่สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองในเชิงบวกขององค์กร ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้บริษัทมีชื่อเสียงที่ดีขึ้น แต่ยังส่งผลให้เกิดการทำงานร่วมกันเป็นทีมที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย

  5. เพิ่มการมีส่วนร่วมของพนักงาน

    การทำให้ผู้คนยอมรับในค่านิยมองค์กรของคุณสามารถกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมของพนักงานมากขึ้นได้ โดยการทำเช่นนี้จะช่วยให้พวกเขารู้สึกเชื่อมต่อกับองค์กรและกับเพื่อนร่วมงานมากยิ่งขึ้น ซึ่งความกระตือรือร้นนี้สามารถแผ่ขยายไปยังภาระงานประจำวัน จนสร้างแรงบันดาลใจให้คนในทีมได้ 'ทุ่มเททำงาน' ซึ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลต่อประสิทธิภาพในการทำงานได้

    การศึกษาจาก Gallup พบว่า สมาชิกในทีมที่มีส่วนร่วมกับองค์กรจะมีอัตราการลาออกต่ำกว่า มีความสามารถในการสร้างกำไรเพิ่มขึ้น 21% และมีผลิตภาพมากขึ้น 17% เมื่อเทียบกับสมาชิกที่ไม่มีส่วนร่วม ข้อดีต่างๆ ยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้ เพราะรายงานจากสมาชิกในทีมที่มีส่วนร่วมกับองค์กรอย่างแข็งขันยังระบุอีกด้วยว่า พวกเขามีอัตราการขาดงานลดลง 41% และมีอัตราการลาออกลดลง 59% อีกด้วย

ตัวอย่างค่านิยมขององค์กร

ตัวอย่างค่านิยมขององค์กร

ในบางครั้ง คุณอาจเห็นว่าค่านิยมขององค์กรได้ถูกจำกัดความจนเหลือเพียงแค่คำสั้นๆ คำเดียว เช่น ความยุติธรรม ความซื่อสัตย์ หรือการยอมรับความแตกต่าง ทว่าค่านิยมเหล่านั้นยังไม่เพียงพอ คำแถลงค่านิยมของคุณควรมีการกำหนดว่าค่านิยมเหล่านั้นมีความสำคัญต่อธุรกิจของคุณอย่างไร รวมถึงเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าคุณจะนำสิ่งเหล่านั้นไปปฏิบัติอย่างไร ไม่ใช่เป็นแค่สโลแกนเฉยๆ

เรามาดูกันว่าบริษัทต่างๆ มีแนวทางเกี่ยวกับค่านิยมของตนเองกันอย่างไรบ้าง

  • ขับเคลื่อนอย่างรวดเร็ว มีความกล้า และเป็นตัวของตัวเอง - Facebook
  • เราต้องการทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์ ตัวแทน ผู้แทนจำหน่าย และพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจอื่นๆ ที่มีค่านิยมใกล้เคียงกันกับเราและรักษามาตรฐานเดียวกันกับที่เราทำ - Unilever
  • ค่านิยมของเราเป็นตัวขับเคลื่อนวัฒนธรรมในองค์กรและเป็นตัวกำหนดคุณลักษณะของบริษัท - Accenture
  • เป็นผู้นำธุรกิจที่มีค่านิยมที่ก้าวหน้า - Ben & Jerry's
  • คุณมองโลกในมุมมองที่ต่างออกไปเล็กน้อย เราเองก็เช่นกัน - IKEA

เชื่อมต่อถึงกันอยู่เสมอ

รับข่าวสารและข้อมูลเชิงลึกล่าสุดจากบุคลากรหน้างาน

เมื่อส่งแบบฟอร์มนี้ จะถือว่าคุณยินยอมที่จะรับการติดต่อสื่อสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับการตลาดจาก Facebook ซึ่งประกอบด้วยข่าวสาร กิจกรรม ข้อมูลอัพเดต และอีเมลส่งเสริมการขาย คุณสามารถถอนความยินยอมและเลิกรับอีเมลดังกล่าวได้ทุกเมื่อ นอกจากนี้ คุณยังรับทราบว่าได้อ่านและยอมรับข้อกำหนดด้านความเป็นส่วนตัวบน Workplace แล้ว

คุณจะพัฒนาค่านิยมขององค์กรได้อย่างไร: 5 สิ่งที่ควรพิจารณา

คุณจะพัฒนาค่านิยมขององค์กรได้อย่างไร: 5 สิ่งที่ควรพิจารณา

ค่านิยมขององค์กรหาใช่สิ่งที่ธุรกิจสามารถหาซื้อกันได้ ค่านิยมเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เฉพาะเจาะจงสำหรับแต่ละองค์กร รวมไปถึงผู้คนและความเชื่อขององค์กรนั้นๆ นอกจากนี้ ค่านิยมขององค์กรยังต้องมีความซื่อสัตย์เป็นองค์ประกอบด้วย คงจะไม่ดีเท่าไรนักหากคุณนั่งลงพร้อมกระดาษเปล่าแล้วถามหาสิ่งที่ต้องบรรจุเอาไว้ในค่านิยมขององค์กร คุณควรเริ่มต้นด้วยการพิจารณาสิ่งต่างๆ ที่องค์กรของคุณได้เริ่มต้นทำแล้วจริงๆ

คุณปฏิบัติต่อพนักงานและลูกค้าอย่างไร คุณมีส่วนร่วมในคอมมูนิตี้ระดับองค์กรมากน้อยเพียงใด ทีมผู้นำของคุณมีความหลากหลายแค่ไหน คำตอบของคำถามเหล่านี้จะเป็นรากฐานที่สำคัญของชุดค่านิยมขององค์กรที่สะท้อนความเป็นจริง

ต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงเมื่อคุณกำหนดค่านิยมขององค์กร

  1. เป้าหมายของบริษัทคุณคืออะไร

    ค่านิยมที่มีความชัดเจนทุกชุดจะต้องสอดคล้องกับเป้าหมายทางธุรกิจของคุณ ผู้คนอาจรู้จักบริษัทผู้ผลิตในเรื่องการผลิตสินค้าที่มีมาตรฐานสูงสุด ในขณะที่ธุรกิจโลจิสติกส์อาจภาคภูมิใจในการขนส่งที่รวดเร็วของตนเอง สิ่งสำคัญคือ ปรัชญาของคุณจะต้องกำหนดค่านิยมขององค์กรให้ชัดเจน

    ค่านิยมที่อิงตามเป้าหมายก็ถือว่ามีประโยชน์ต่อตัวพนักงานด้วยเช่นกัน โดยการศึกษาบทบาทของเป้าหมายในที่ทำงานพบว่า 73% ของพนักงานที่ให้ความสำคัญกับเป้าหมายนั้นรู้สึกพึงพอใจกับหน้าที่การงานของตนเอง1

  2. คุณต้องการส่งเสริมพฤติกรรมแบบใด

    ลองนึกภาพว่าค่านิยมของคุณเป็นแนวทางปฏิบัติที่มีคุณธรรมสำหรับพนักงาน เปรียบเสมือนลำแสงเจิดจ้าที่คอยชี้ทางว่าพนักงานควรปฏิบัติตนอย่างไรตลอดเวลาทำงาน คุณต้องการให้พนักงานปฏิบัติต่อกันและกัน รวมถึงปฏิบัติต่อลูกค้าของคุณอย่างไร องค์กรของคุณจะยึดมั่นในความหลากหลายและการไม่แบ่งแยกได้อย่างไร

  3. ค่านิยมของคุณจะทำงานสอดประสานกับโครงสร้างธุรกิจของคุณได้อย่างไร

    บางองค์กรมีโครงสร้างบริษัทในแนวราบ โดยมีลำดับการบริหารจัดการไม่กี่ขั้นและมีสายการบังคับบัญชาที่สั้น ค่านิยมที่จัดทำขึ้นสำหรับธุรกิจเหล่านี้จึงอาจดูแปลกตาไปจากค่านิยมที่จัดทำขึ้นสำหรับบริษัททั่วไปที่มีลำดับขั้นซับซ้อนกว่า ธุรกิจที่มีโครงสร้างในแนวราบจึงอาจต้องให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบ ในขณะที่บริษัทที่มีรูปแบบโครงสร้างแบบดั้งเดิมมากขึ้นก็อาจเน้นไปที่ผู้จัดการที่คอยดูแลเหล่าสมาชิกในทีมของตน

    ขนบธรรมเนียมและหลักปฏิบัติของธุรกิจมักจะแตกต่างกันออกไปตามแต่ละประเทศ ภูมิภาค หรือแม้แต่แผนกต่างๆ ด้วยเช่นกัน เมื่อคุณสื่อสารหลักการชี้นำ คุณควรตระหนักถึงความแตกต่างเหล่านี้และชี้แจงว่าธุรกิจของคุณนั้นมีจุดยืนต่อประเด็นเหล่านี้อย่างไร เพื่อที่จะให้พนักงานทุกคนสามารถทำงานได้นั้น พวกเขาจำเป็นต้องเข้าใจหลักปรัชญาของคุณเสียก่อน

  4. ค่านิยมของคุณส่งเสริมการทำงานจากทางไกลและการทำงานแบบไฮบริดหรือไม่

    ค่านิยมปัจจุบันของคุณอาจไม่ได้มีประโยชน์ต่อพนักงานที่ทำงานจากทางไกลและอาจต้องมีการอัพเดต ลองนึกภาพตามว่าหลักการของคุณจะเป็นอย่างไรในสถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้พนักงานทุกคนได้รับการสนับสนุนในด้านการทำงานไม่ว่าพวกเขาจะทำงานจากที่ใดก็ตาม

  5. คุณอยากให้คนทั้งโลกมองคุณในรูปแบบใด

    คุณอาจเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นศูนย์กลางหรือการสร้างสายสัมพันธ์ แต่ไม่ว่าจะทางใด ค่านิยมของคุณก็ควรสร้างความประทับใจที่เหมาะสม แต่อย่าลืมว่า ประเด็นนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปรับภาพลักษณ์ต่อสาธารณชนของคุณแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะพนักงานของคุณจำเป็นต้องใช้ชีวิตและทำงานตามมาตรฐานเหล่านั้นด้วย

    เมื่อคุณมีไอเดียเริ่มต้นแล้ว คุณก็จำเป็นต้องรวบรวมคนจำนวนมากให้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างค่านิยมดังกล่าว

ขั้นตอนที่ 1: ฟอร์มทีมกัน

ค่านิยมขององค์กรควรคำนึงถึงทุกคนที่อยู่ในธุรกิจ คุณควรลองแบ่งกลุ่มพนักงาน รวมถึงเลือกผู้นำเพื่อให้การประชุมมีความสมดุลและโฟกัสไปในประเด็นต่างๆ ซึ่งพนักงานจากฝ่ายทรัพยากรบุคคลน่าจะรับผิดชอบงานส่วนนี้ได้ดี

ขั้นตอนที่ 2: ระดมความคิด

ถามแต่ละคนว่าพวกเขาต้องการได้รับการปฏิบัติจากเพื่อนร่วมงานและผู้จัดการของตนอย่างไรทั้งในขณะที่ทำงานที่ออฟฟิศและทำงานจากทางไกล ตลอดจนพูดคุยแลกเปลี่ยนกันว่าพนักงานคาดหวังสิ่งใดจากนายจ้าง นี่เป็นโอกาสที่ดีที่สุดในการเข้าสู่ประเด็นความคาดหวังขององค์กรต่อทีมต่างๆ

ขั้นตอนที่ 3: กำหนดค่านิยมขององค์กรใหม่

ได้เวลาระดมความคิดแล้ว ไม่มีใครบอกได้ว่าค่านิยมขององค์กรควรจะมีกี่ข้อดี แต่สิ่งสำคัญคือ ค่านิยมเหล่านี้จะต้องเข้าใจและจดจำได้ง่าย ซึ่งบางธุรกิจก็เลือกที่จะใช้ตัวย่อเพื่อให้ผู้คนจดจำหลักปรัชญาของตนได้

ขั้นตอนที่ 4: ขอความเห็นชอบจากผู้บริหาร

เมื่อคุณดำเนินการทุกอย่างร่วมกับทีมเฉพาะกิจเรียบร้อยแล้วก็ได้เวลาที่คุณจะนำเสนอผลงานของคุณกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่จะต้องเห็นดีเห็นชอบกับงานดังกล่าว คุณควรเตรียมตัวอธิบายแนวคิดของคุณและปรับแก้ค่านิยมต่างๆ ตามคำแนะนำที่ได้รับ โดยคุณจะต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักทุกคนก่อน แล้วจึงค่อยประกาศค่านิยมดังกล่าวให้กับทุกทีมที่เหลือ

คุณจะสื่อสารค่านิยมขององค์กรในรูปแบบใด

คุณจะสื่อสารค่านิยมขององค์กรในรูปแบบใด

แม้แต่ค่านิยมที่ดีที่สุดก็อาจไม่ได้รับความสนใจหากคุณสื่อสารออกไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ การถ่ายทอดหลักปรัชญาขององค์กรกับสมาชิกในทีมของคุณเป็นมากกว่าแค่การนำเสนอข้อมูลหรือส่งอีเมลไปยังสมาชิกในทีม แต่การสื่อสารเกี่ยวกับค่านิยมเป็นกระบวนการที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ต่อไปนี้คือ 6 วิธีในการเริ่มต้นสื่อสารค่านิยมขององค์กร

  1. คำแถลงค่านิยมขององค์กร

    วิธีนี้ควรเป็นขั้นตอนแรกสุดในการประกาศค่านิยมขององค์กร คุณควรร้อยเรียงทุกสิ่งอย่างให้อยู่ในภาษาที่ไม่ซับซ้อน อ่านง่าย และจำไว้ว่าควรทำให้น้อยแต่ได้ผลลัพธ์มาก จากนั้นให้ติดคำแถลงค่านิยมของคุณตามห้องครัวของที่ทำงาน โกดังสินค้า ร้านค้า บนระบบอินทราเน็ตของคุณ ในแชทกลุ่ม รวมไปถึงเว็บไซต์ของคุณที่จะแสดงให้ลูกค้าเห็น ทุกคนจำเป็นต้องคุ้นเคยกับคำแถลงค่านิยมดังกล่าว ไม่ว่าพวกเขาจะทำงานที่ออฟฟิศ ทำงานจากทางไกล หรือทำงานอยู่ที่หน้างานก็ตาม

  2. การประชุมเพื่อแนะนำ

    นำเสนอค่านิยมของคุณในการประชุมใหญ่ของบริษัท โดยคุณสามารถใช้เครื่องมือการสื่อสารต่างๆ ในการจัดประชุมเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ไม่ใช่แค่เฉพาะคนที่สามารถเข้าร่วมประชุมในสถานที่จริงเพียงอย่างเดียว

  3. การตรวจสอบผลการปฏิบัติงาน

    การเชื่อมโยงค่านิยมขององค์กรเข้ากับการเพิ่มค่าจ้างและการเลื่อนขั้นจะกระตุ้นให้พนักงานสนับสนุนค่านิยมเหล่านั้น คุณควรขอให้สมาชิกในทีมกำหนดวัตถุประสงค์ที่ยึดโยงกับค่านิยมดังกล่าว และหากพนักงานตั้งเป้าหมายที่สามารถวัดผลได้และสอดคล้องกับค่านิยมของคุณ พวกเขาก็จะจดจำค่านิยมดังกล่าวได้ตลอดทั้งปี

  4. การเชื่อมโยงเข้ากับกลยุทธ์การสื่อสารของคุณ

    การใช้ภาษาโดยคำนึงถึงผู้อื่นสามารถช่วยโปรโมทหลักปรัชญาของคุณได้ โดยก่อนที่พนักงานจะกด 'ส่ง' อีเมลหรือ 'เผยแพร่' โพสต์บนโซเชียลมีเดีย พวกเขาควรพิจารณาก่อนว่าข้อความดังกล่าวสอดคล้องกับค่านิยมของคุณหรือไม่

  5. โปรโมทค่านิยมขององค์กรในบทสัมภาษณ์

    ผู้ใหญ่กว่า 77% พิจารณาวัฒนธรรมของบริษัทก่อนทำการสมัครงาน ดังนั้น คุณจึงสามารถคาดการณ์ได้ว่า ว่าที่พนักงานเหล่านี้จะพิจารณาว่าตนเองอาจเข้ากับทีมของคุณได้อย่างไรบ้างในระหว่างกระบวนการสัมภาษณ์ การกล่าวถึงหลักปรัชญาของคุณตั้งแต่ครั้งแรกที่มีโอกาสจะช่วยให้ทุกคนมีความมั่นใจว่าจะสามารถเข้ากับองค์กรของคุณได้เป็นอย่างดี

  6. การพูดคุยแบบไม่เป็นทางการ

    การพูดคุยถึงค่านิยมขององค์กรไม่จำเป็นต้องทำให้ดูเป็นทางการเสมอไป ผู้จัดการอาจเลือกพูดคุยเกี่ยวกับหลักการต่างๆ ในระหว่างการพูดคุยที่เป็นกันเองได้ นอกจากนี้ เพื่อนร่วมงานก็สามารถแชร์ไอเดียในการกำหนดวัตถุประสงค์ที่อิงตามค่านิยมเหล่านั้นได้เช่นเดียวกัน หากทุกคนเต็มใจที่จะยกตัวอย่างของตนเองให้คนอื่นๆ ในกลุ่มได้รับรู้ การสำรวจความคืบหน้าก็จะยิ่งมีความหมายมากยิ่งขึ้น

อ่านต่อ

บทความนี้มีประโยชน์หรือไม่
ขอบคุณสำหรับความเห็นของคุณ

โพสต์ล่าสุด

วัฒนธรรม | ใช้เวลาอ่าน 11 นาที

วัฒนธรรมในที่ทำงาน: วิธีสร้างวัฒนธรรมเชิงบวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

วัฒนธรรมในที่ทำงานมีความสำคัญยิ่งขึ้นในโลกของการทำงานแบบผสมผสานและการทำงานทางไกล ร่วมหาคำตอบว่าวัฒนธรรมในที่ทำงานคืออะไรและคุณจะสามารถปรับปรุงวัฒนธรรมนี้ได้อย่างไร

เรื่องราวความสำเร็จ

เรียนรู้วิธีสร้างทีมงานแบบผสมผสานที่มีประสิทธิภาพการทำงานสูง

การทำงานแบบผสมผสานที่นิยมกันมากขึ้นได้เปลี่ยนกฎของความมีส่วนร่วมไปโดยสิ้นเชิง ใช้แหล่งข้อมูลบน Workplace from Meta เหล่านี้เพื่อเปลี่ยนวิธีที่คุณใช้เชื่อมต่อและสื่อสารกับพนักงาน ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหนและทำอะไรก็ตาม

วัฒนธรรม | ใช้เวลาอ่าน 8 นาที

เหตุใดความหลากหลายและการไม่แบ่งแยกจึงมีความสำคัญยิ่งกว่าที่เคย

ความหลากหลายและการไม่แบ่งแยกคืออะไร และเหตุใดจึงมีความสำคัญในการทำงาน เราจะมาสำรวจสาเหตุที่บริษัทต่างๆ สนใจประเด็นปัญหาที่สำคัญเหล่านี้