วิธีเพิ่มผลิตภาพในตัวเอง

ผลิตภาพในตัวเองคืออะไรและคุณจะเพิ่มผลิตภาพดังกล่าวได้อย่างไร มาทำตามขั้นตอนง่ายๆ เหล่านี้เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านผลิตภาพของคุณกัน

ผลิตภาพ | ใช้เวลาอ่าน 7 นาที
How to increase personal productivity - Workplace from Meta

คุณอาจเคยชินกับการคิดถึงผลิตภาพในแง่ของทีมตัวเอง คำถามคือ แล้วถ้าเป็นผลิตภาพของตัวคุณเองล่ะ ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้จัดการ สมาชิกในทีม หรือฟรีแลนซ์ก็ตาม คุณเองก็สามารถทำสิ่งง่ายๆ เหล่านี้เพื่อให้ตัวเองได้รับสิ่งดีๆ ในแต่ละวันมากยิ่งขึ้นได้ เรามาสำรวจสิ่งเหล่านี้ไปพร้อมๆ กัน

วิธีช่วยให้บุคลากรหน้างานทำงานได้ดียิ่งขึ้น

บุคลากรหน้างานสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างยอดเยี่ยม แต่คุณจำเป็นจะต้องเชื่อมต่อและให้การสนับสนุนพวกเขา ดาวน์โหลดรายการตรวจสอบนี้และศึกษาวิธีการ

เหตุใดผลิตภาพในตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญ

เหตุใดผลิตภาพในตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญ

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เปลี่ยนโลกแห่งการทำงานจากหน้ามือเป็นหลังมือ ธุรกิจต่างๆ จึงจำเป็นต้องมีความคล่องตัวอย่างมาก ทั้งปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริการ จัดระเบียบพนักงานใหม่ และปรับไปใช้แนวทางการทำงานที่ยืดหยุ่นหรือการทำงานจากทางไกลอย่างรวดเร็ว

สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ผู้คนโฟกัสไปที่ผลิตภาพมากยิ่งขึ้น ทว่าองค์กรทั้งหลายต่างก็กังวลว่าบุคลากรของตนจะยังคงมีผลิตภาพอยู่หรือไม่เมื่อต้องทำงานจากทางไกล โดยข้อมูลของ World Economic Forum เผยให้เห็นว่าผู้นำธุรกิจกว่า 78% มองว่าการทำงานแบบไฮบริดและการทำงานจากที่บ้านนั้นส่งผลลบต่อผลิตภาพ

ถึงแม้ว่าเราจะยังหาข้อสรุปกันไม่ได้ แต่ก็ถือว่าสถานการณ์จนถึงตอนนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างดีเลยทีเดียว การศึกษาหลายชิ้นมีการระบุถึงผลิตภาพที่เพิ่มขึ้นมากกว่าส่วนที่ลดลง โดยแบบสำรวจชิ้นหนึ่งพบว่า 94% ของพนักงานกล่าวว่า ตนมีผลิตภาพเพิ่มขึ้นหรือเท่าเดิมจากช่วงก่อนเกิดโควิด-19 นอกจากนี้ งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งยังเผยให้เห็นด้วยว่า พนักงานที่ทำงานจากทางไกลนั้นมีเวลาที่มีผลิตภาพต่ำและเผชิญกับสิ่งรบกวนน้อยกว่าพนักงานออฟฟิศอีกด้วย

ในระหว่างที่องค์กรมุ่งเน้นไปที่การวัดผลิตภาพของพนักงานและการทำงานร่วมกันเป็นทีม คำถามคือ เราในฐานะปัจเจกบุคคลจะพัฒนาวิธีการทำงานของตัวเองได้อย่างไร และในเมื่อการทำงานจากทางไกลนั้นหมายความว่าเรามีหน้าที่รับผิดชอบมากขึ้นในการจัดการผลิตภาพของตัวเอง แต่เราจะจัดการกับสิ่งดังกล่าวได้อย่างไร

ในขณะที่เครื่องมือติดตามผลิตภาพแบบเดิมที่ใช้กันอยู่นั้นให้ความสำคัญกับตัวงาน บางทีนี่อาจจะถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมองประเด็นด้านผลิตภาพในมุมมองที่กว้างกว่าเดิม ซึ่งบางทีเราอาจจะต้องเริ่มวัดผลิตภาพแบบ 'ย้อนกลับ' เสียด้วยซ้ำ โดยเริ่มต้นจากการพิจารณาผลลัพธ์เป็นอันดับแรก แล้วจึงค่อยมองหาการกระทำและพฤติกรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จ รวมถึงสิ่งที่เป็นอุปสรรค

เราต้องพิจารณาเกี่ยวกับผลิตภาพอย่างรอบด้าน ซึ่งรวมถึงในส่วนของชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีด้วยเช่นกัน เป็นที่ทราบกันดีว่าความเชื่อมโยงกันระหว่างผลิตภาพกับความเครียด ที่ยิ่งคนเราเครียดมากเท่าใด เราก็มีแนวโน้มจะมีผลิตภาพน้อยลงเท่านั้น ซึ่งผลิตภาพที่ลดลงนี้ก็อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่ามีบางอย่างที่ไม่ปกติเกี่ยวกับสุขภาพจิตของคนคนนั้นได้

วิธีวัดผลิตภาพในตัวเอง

วิธีวัดผลิตภาพในตัวเอง

คุณเองก็สามารถใช้สมการง่ายๆ ในการวัดผลิตภาพของตนเองได้ เพียงนำมูลค่าที่คุณสร้างได้มาหารด้วยจำนวนชั่วโมงที่คุณทำงาน ผู้ที่มีผลิตภาพสูงจะสร้างมูลค่าให้กับองค์กรในปริมาณเท่าเดิมด้วยระยะเวลาที่สั้นลง หรือสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างมากในระยะเวลาเท่าเดิม

ปัญหาก็คือ การวัดผลิตภาพในตัวเองด้วยวิธีดังกล่าวนั้นทำได้ยาก เนื่องจากคนเราไม่อาจรับรู้ถึงมูลค่าที่ตนเองสร้างได้อย่างชัดเจนเสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณทำงานที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสร้างผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้ ซึ่งจะยิ่งทำให้คุณวัดผลลัพธ์ได้ยากขึ้นไปอีก

ด้วยเหตุนี้ การพิจารณาถึงผลิตภาพในแง่ของจำนวนชั่วโมงทั้งหมดที่คุณมีผลิตภาพในแต่ละวันหรือสัปดาห์โดยเฉลี่ยจึงดูเป็นวิธีการที่ทำได้ง่ายกว่า โดยชั่วโมงที่มีผลิตภาพคือชั่วโมงที่คุณทำสิ่งต่างๆ สำเร็จลุล่วง รู้สึกว่าตนเองสามารถจดจ่ออยู่กับงานและทำงานจนเสร็จได้ และไม่มีสิ่งใดมารบกวน

มีหลายคนที่รู้สึกว่าตนเองนั้นมีผลิตภาพมากขึ้นในบางช่วงเวลาของวันหรือสัปดาห์มากกว่าช่วงอื่นๆ อีกทั้งสิ่งรบกวนก็อาจเป็นได้ตั้งแต่การประชุมด่วน สายโทรศัพท์เข้า การแจ้งเตือนแชท ไปจนถึงการมีงานเล็กๆ หรืองานจิปาถะเข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลให้คุณไม่สามารถเคลียร์ "งานชิ้นใหญ่" ให้เสร็จสิ้นได้อีกด้วย

การศึกษาในปี 2019 ที่รายงานโดยสภาวิจัยทางเศรษฐกิจ (Economic Research Council) แห่งสหราชอาณาจักรพบว่า พนักงานในสหราชอาณาจักรมีผลิตภาพในแต่ละวันที่ทำงานเฉลี่ยอยู่ที่ 2 ชั่วโมง 53 นาทีเท่านั้น สมมติว่าคนเรามีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยที่ราว 8 ชั่วโมง นั่นก็แปลว่าเราทำงานได้... ไม่ค่อยดีนักในอีกเกือบ 5 ชั่วโมงที่เหลือ สิ่งเหล่านี้จึงนำมาซึ่งข้อสรุปที่ชวนให้ขมวดคิ้วที่ว่า หากคุณมีผลิตภาพในตัวเองสูงกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน ก็ถือว่าคุณมีผลิตภาพสูงกว่าของพนักงานคนอื่นๆ โดยเฉลี่ยแล้ว

คุณอาจเกิดคำถามดังต่อไปนี้กับตัวเองได้เมื่อต้องวัดผลิตภาพในตัวคุณ

ในหนึ่งวัน คุณมีเวลาโดยเฉลี่ยในการโฟกัสกับงานชิ้นหนึ่งโดยเฉพาะมากน้อยเพียงใด

หากปฏิทินการทำงานของคุณมีแต่งานด้านธุรการ หรือหากคุณมักจะทำงานตั้งแต่ 2 โปรเจ็กต์ขึ้นไปพร้อมๆ กัน สิ่งเหล่านี้ก็อาจส่งผลต่อผลิตภาพของคุณได้

ปกติแล้วคุณประชุมกี่ครั้งในหนึ่งวัน

คุณมักจะต้องจัดสรรเวลาในการทำงานหลายๆ ชิ้นพร้อมกันหรือเจอกับกำหนดส่งงานที่ไม่สามารถทำได้จริงเป็นประจำหรือไม่

หากสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นประจำ นั่นหมายความว่า คุณจำเป็นต้องทบทวนแนวทางการทำงานของตนเอง รวมถึงถามตนเองว่าจำเป็นต้องแบ่งงานไปให้คนอื่นทำมากขึ้นหรือไม่

คุณได้พักจากทำงาน ซึ่งรวมถึงการทานอาหารกลางวัน ตามปกติหรือไม่

การพักผ่อนเป็นสิ่งจำเป็นในการรักษาสมาธิ คุณจึงจำเป็นต้องหาเวลาปลีกตัวออกจากหน้าจอบ้าง

10 เคล็ดลับที่จะทำให้คุณมีผลิตภาพในตัวเองมากที่สุด

10 เคล็ดลับที่จะทำให้คุณมีผลิตภาพในตัวเองมากที่สุด

สิ่งสำคัญที่สุดที่คุณไม่ควรลืมเมื่อคุณต้องการเพิ่มผลิตภาพให้ได้มากที่สุดคือคำกล่าวที่ว่า การเพิ่มผลิตภาพให้ได้มากที่สุดนั้นเริ่มต้นจากการเปลี่ยนวิธีคิด เพราะแม้แต่แอพการจัดการเวลาหรือซอฟต์แวร์ติดตามผลิตภาพทั้งหมดที่มีอยู่ในโลกนี้ก็ไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้หากความคิดของคุณยังไม่เข้าที่เข้าทาง

เคล็ดลับยอดนิยม 10 ข้อที่จะช่วยให้ระบบความคิดของคุณทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นมีดังต่อไปนี้

1. นึกถึงสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อตัวคุณ

คุณรู้สึกไม่มีสมาธิ ทนรับความเครียดไม่ไหว หรือเบื่อการทำงานหรือไม่ การตระหนักถึงภาระงานและอารมณ์ความรู้สึกของตนเองเป็นขั้นตอนแรกในการทำความเข้าใจและเพิ่มผลิตภาพในตัวคุณ

2. จินตนาการภาพวันที่คุณทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ลองนึกถึงความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ที่คุณคิดว่าเกี่ยวข้องกับการทำงานที่มีผลิตภาพ เช่น คุณอยู่ที่ไหน คุณมีแนวคิดเป็นอย่างไร รูปแบบการทำงานของคุณเป็นอย่างไรบ้าง

3. สร้างเส้นทางสู่ความสำเร็จและพยายามทำให้เกิดวันที่คุณวาดฝันไว้ให้ได้

ภาพในหัวคุณจะไม่มีทางเป็นจริงได้หากคุณไม่ลงมือทำ แต่ทั้งนี้ คุณก็ไม่ควรทำทุกอย่างในคราวเดียวด้วยเช่นกัน แต่ควรคิดหากลยุทธ์ที่จะทำให้ภาพนั้นเป็นจริงขึ้นมาได้ จากนั้นจึงค่อยลงมือทำทีละนิดๆ

4. วางแผนด้านผลิตภาพ (รายการสิ่งที่ต้องทำ) ในแต่ละวัน

การใช้ตัวช่วยวางแผนด้านผลิตภาพเพื่อระบุสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวันเป็นวิธีที่ดีในการเริ่มต้นทำงานในแต่ละวันได้อย่างมีผลิตภาพมากขึ้น ทั้งยังช่วยให้คุณเห็นภาพลำดับความสำคัญ ซึ่งหากมีงานอื่นๆ แทรกเข้ามา คุณก็จะรู้ได้ทันทีว่าต้องจัดงานชิ้นนี้ไว้ที่ส่วนใดของตารางการทำงานของตนเอง

5. ทำงานชิ้นใหญ่ให้เสร็จตั้งแต่เนิ่นๆ

หากคุณมีงานที่ตัวเองรู้สึกกังวลใจ คุณก็ควรจัดการงานดังกล่าวตั้งแต่เนิ่นๆ เป็นวันหรือสัปดาห์ล่วงหน้า หากเป็นไปได้ การทำงานที่ชวนให้รู้สึกเครียดที่สุดให้สำเร็จลุล่วงจะช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้นอย่างมากเมื่อต้องเริ่มทำงานชิ้นอื่นที่อยู่ในรายการสิ่งที่ต้องทำ

6. แบ่งงานชิ้นใหญ่ให้กลายเป็นชิ้นเล็กๆ

หากคุณรู้สึกหนักใจเมื่อมองไปที่โปรเจ็กต์ในภาพใหญ่ ให้คุณลองแบ่งโปรเจ็กต์นั้นออกเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบต่างๆ ที่เล็กลงมา โดยเมื่อคุณเริ่มทำงานเล็กๆ น้อยๆ ในรายการสิ่งที่ต้องทำสำเร็จ คุณก็จะรู้สึกเหมือนตัวเองกำลังก้าวไปข้างหน้าเพื่อพิชิตเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น

7. ให้รางวัลตัวเองด้วยรางวัลจูงใจเล็กๆ น้อยๆ

ให้รางวัลตัวเองทุกครั้งที่คุณทำงานในรายการสิ่งที่ต้องทำสำเร็จ คุณจะรู้สึกมีแรงจูงใจมากขึ้นที่จะทำงานให้สำเร็จลุล่วงเร็วขึ้นหากมีบางอย่างรอคุณอยู่เมื่องานเสร็จ ไม่ว่าจะเป็นการผละตัวออกจากหน้าจอ 10 นาที การดื่มเครื่องดื่ม หรือให้เวลาตัวเองได้เลื่อนดูคอนเทนต์ในฟีดโซเชียลมีเดีย

8. อย่าลืมพักตามเวลาที่กำหนด

การพักผ่อนช่วยได้หลายอย่างตั้งแต่การมีสมาธิจดจ่อไปจนถึงการผ่อนคลายความเครียด คุณอาจคิดว่าการทำงานในช่วงพักกลางวันเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คุณทำงานเสร็จ แต่จริงๆ แล้วคุณอาจทำให้งานเสร็จช้าลงไปอีกก็เป็นได้

9. แบ่งงานหรือให้ระบบอัตโนมัติทำงานแทนหากเป็นไปได้และเมื่อเป็นไปได้

คุณไม่ควรเป็นพ่อพระแม่พระเวลาที่ตนเองมีงานให้รับผิดชอบมากจนเกินไป แต่ควรมองหาคนที่สามารถช่วยคุณได้ หรือที่ดีกว่านั้นคือหาวิธีที่ให้เทคโนโลยีทำงานดังกล่าวแทนคุณ เช่น การใช้บอทเพื่อส่งแบบสำรวจและรวบรวมผลสำรวจ เป็นต้น

10. ติดตามผลิตภาพของคุณอย่างต่อเนื่องและดูแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น (เช่น สิ่งที่ทำให้งานของคุณสะดุดอยู่เป็นประจำ)

รวมถึงติดตามจำนวนชั่วโมงที่คุณทำงานและซื่อสัตย์เมื่อต้องบันทึกช่วงเวลาที่คุณทำงานทั้งแบบมีและไม่มีผลิตภาพ เมื่อคุณรวบรวมข้อมูลได้บางส่วนแล้ว ให้พิจารณาข้อมูลแล้วลองหารูปแบบของสิ่งต่างๆ ที่ช่วยให้คุณมีผลิตภาพมากขึ้นและสิ่งที่ทำให้คุณทำงานช้าลง โดยคุณสามารถนำวิธีการดังกล่าวมาใช้เป็นพื้นฐานของกลยุทธ์ในการทำงานที่ชาญฉลาดยิ่งขึ้นได้

เชื่อมต่อถึงกันอยู่เสมอ

รับข่าวสารและข้อมูลเชิงลึกล่าสุดจากบุคลากรหน้างาน

เมื่อส่งแบบฟอร์มนี้ จะถือว่าคุณยินยอมที่จะรับการติดต่อสื่อสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับการตลาดจาก Facebook ซึ่งประกอบด้วยข่าวสาร กิจกรรม ข้อมูลอัพเดต และอีเมลส่งเสริมการขาย โดยคุณสามารถถอนความยินยอมและเลิกรับอีเมลดังกล่าวได้ทุกเมื่อ นอกจากนี้ คุณยังรับทราบว่าได้อ่านและยอมรับข้อกำหนดด้านความเป็นส่วนตัวบน Workplace แล้ว

9 วิธีในการเพิ่มผลิตภาพในตัวเองให้มากขึ้นไปอีก

9 วิธีในการเพิ่มผลิตภาพในตัวเองให้มากขึ้นไปอีก

แน่นอนว่า หากคุณต้องการเพิ่มผลิตภาพในตัวเองให้มากขึ้นไปอีก คุณก็สามารถฝึกฝนตนเองโดยใช้เทคนิค "ลองและทดสอบ" เพื่อเพิ่มผลิตภาพได้ นอกจากนี้ ยังมีวิธีอีกมากมายให้คุณได้เลือก คุณจึงสามารถเลือกวิธีที่เหมาะกับคุณได้

นี่คือวิธีการบางส่วนที่คุณควรลอง

SMART ย่อมาจาก Specific (เจาะจง), Measurable (วัดผลได้), Achievable (บรรลุผลได้), Relevant (มีความเกี่ยวข้อง) และ Time-Bound (มีกรอบเวลาที่ชัดเจน) โดยมี Peter Drucker เป็นผู้ให้คำนิยามคนแรก วิธีนี้เป็นการทำงานตามลำดับขั้นตอนเพื่อช่วยให้แต่ละคนได้กำหนดเป้าหมายที่ทำได้จริงและบรรลุเป้าหมายนั้นได้ด้วยการทำงานอย่างสม่ำเสมอและตรงไปตรงมา

เทคนิคการจัดการเวลาของ Francesco Cirillo เป็นระบบที่ไม่ซับซ้อน โดยเริ่มจากการทำงานเป็นเวลา 25 นาทีและพักเป็นช่วงๆ ในระหว่างที่ทำ Sprint สั้นๆ เหล่านี้ โดยเทคนิคนี้ได้ถูกตั้งชื่อตามคำว่า "มะเขือเทศ" ในภาษาอิตาลี เนื่องจาก Cirillo นั้นใช้นาฬิกาจับเวลาต้มไข่รูปทรงมะเขือเทศเมื่อครั้งที่เขายังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย

Kanban เป็นเทคนิคการจัดการโปรเจ็กต์ที่เรียบง่ายแต่มีประสิทธิภาพ ทั้งหมดที่คุณจำเป็นต้องมีนั้นมีแค่กระดาษโน้ตที่มีแถบกาวในตัวและตารางที่มี 3 คอลัมน์ ซึ่งได้แก่ "ต้องทำ", "อยู่ระหว่างดำเนินการ" และ "เสร็จสิ้น" การเลื่อนกระดาษโน้ตจากฝั่งซ้ายไปยังฝั่งขวาของตารางจะช่วยให้คุณเห็นภาพว่าตนเองจะทำงานต่างๆ ให้สำเร็จได้อย่างไร ขณะเดียวกันก็ทำให้คุณได้เห็นหน้าที่ความรับผิดชอบท้ังหมดในแต่ละวันแบบภาพรวม

วิธีการที่ได้แรงบันดาลใจจากคำพูดของ Mark Twain ที่ว่า "กินกบเป็นอย่างแรกในตอนเช้า แล้วคุณจะไม่เจอเรื่องที่แย่กว่านี้แล้วไปตลอดทั้งวันที่เหลือ" โดย Brian Tracy ได้นำเคล็ดลับด้านผลิตภาพนี้มาสร้างเป็นคอนเซปต์ง่ายๆ หนึ่งคอนเซปต์ ซึ่งได้แก่ การทำงานที่ท้าทายที่สุดให้เสร็จสิ้นเป็นอย่างแรกในตอนเช้า แล้วคุณจะรู้สึกทำงานได้รวดเร็วขึ้นอย่างมากในเวลาที่เหลือของวันนั้น

ตัวย่อนี้มาจากคำว่า "Must have" (ต้องทำ), "Should have" (ควรทำ), "Could have" (น่าจะทำ) และ "Would have" (อาจจะทำ) วิธีนี้ไม่ยุ่งยากซับซ้อน เพียงแค่คุณนำงานต่างๆ มาจัดเรียงเป็นลำดับจากเร่งด่วนมากที่สุดไปยังเร่งด่วนน้อยที่สุด โดยงานที่ "ต้องทำ" คืองานที่คุณควรให้ความสนใจทันที (เช่น การตอบกลับข้อความสำคัญ) ในขณะที่งานที่ "อาจจะทำ" คือเป้าหมายคร่าวๆ ที่คุณตั้งไว้สำหรับอนาคต (เช่น การเลื่อนตำแหน่ง)

ผลผลิตจากไอเดียของนักศึกษาด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ โดยวิธีการแบบ Systemist นี้จะผสานการทำงานกับแอพ Todoist เพื่อลดความซับซ้อนของขั้นตอนการทำงานที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันก็ช่วยสร้างสมดุลระหว่างความรับผิดชอบในส่วนอื่นๆ ด้วย

เทคนิค Getting Things Done (GTD) ของ David Allen ที่ได้รับความนิยมนี้เริ่มต้นจากการทำเหมือนกับว่าจิตใจของคุณคือกล่องอีเมลและแบ่งงานออกเป็น 5 หมวดหมู่ด้วยกัน ได้แก่ Capture (รวมรวมสิ่งที่สนใจ), Clarify (พิจารณาอย่างเป็นระบบ), Organize (จัดระเบียบ), Reflect (ทบทวน) และ Engage (ลงมือทำ) วิธีการนี้สนับสนุนให้ผู้ใช้โฟกัสสิ่งต่างๆ เพียงครั้งละ 1 อย่าง โดยเก็บงานอื่นๆ ที่มีความสำคัญรองลงมาเอาไว้ หรือแม้แต่โยนลงถังขยะรีไซเคิล

Zen to Done หรือ ZTD เป็นวิธีการที่ต่อยอดจากวิธีการ GTD ของ David Allen ไปอีกขั้นหนึ่ง โดย ZTD ได้นำการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่จำเป็นต่อการปรับตัวให้เข้ากับวิธีการแบบ GTD มาพัฒนาต่อ ทำให้ผู้คนไม่จำเป็นต้องหยุดพักเพื่อทบทวนงานของตนเอง อีกทั้งยังผลักดันให้พวกเขาตั้งใจทำงานต่อไป นับได้ว่าเป็นวิธีการที่มีประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ที่ชอบการลงมือทำมากกว่าการนั่งทบทวนตัวเอง

เทคนิคนี้รู้จักกันในชื่อ "Seinfeld Method" หรือวิธีการแบบ Seinfeld (ถึงแม้ว่า Jerry Seinfeld เองจะกล่าวว่าตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเทคนิคนี้แต่อย่างใดก็ตาม) เทคนิค "อย่าให้โซ่ขาด" นี้สอนให้ผู้ใช้มองรายการต่างๆ ในรายการสิ่งที่ต้องทำที่ทำเครื่องหมายว่าเสร็จสิ้นแล้วว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งในการสร้างตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดียิ่งขึ้นในอนาคต โดยถือเป็นวิธีที่ดีในการสร้างแรงจูงใจให้กับผู้คนที่ให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าของตนเอง

สุดยอดเครื่องมือด้านผลิตภาพในตัวเอง

สุดยอดเครื่องมือด้านผลิตภาพในตัวเอง

เมื่อพูดถึงเครื่องมือด้านผลิตภาพส่วนบุคคลที่ดีที่สุด คุณสามารถเลือกเครื่องมือที่เหมาะกับตัวเองได้

ตัวช่วยวางแผนด้านผลิตภาพ

ตัวช่วยวางแผนด้านผลิตภาพสามารถช่วยคุณติดตามกำหนดการ งาน โปรเจ็กต์ และเป้าหมายทั้งของคุณและสมาชิกในทีมได้ ตัวช่วยเหล่านี้ในรูปแบบดิจิทัลนั้นมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่บางคนก็ยังคงชอบใช้แบบกระดาษมากกว่า

นาฬิกาจับเวลา

นาฬิกาจับเวลาสามารถนำงานและเป้าหมายของโปรเจ็กต์มารวมกับรายการสิ่งที่ต้องทำได้ นอกจากนี้ คุณยังสามารถใช้ในการกำหนดตารางทำงานล่วงหน้าได้อีกด้วย ข้อดีอย่างหนึ่งของเครื่องมือชิ้นนี้คือคุณสามารถนำสถิติที่ระบบสร้างมาใช้เพื่อดูว่าคุณใช้เวลาทำงานแต่ละชิ้นนานเท่าใดได้

หัวข้อที่คุณอาจสนใจ

หัวข้อที่คุณอาจสนใจ

บทความนี้มีประโยชน์หรือไม่
ขอบคุณสำหรับความเห็นของคุณ

โพสต์ล่าสุด

ผลิตภาพ | ใช้เวลาอ่าน 11 นาที

ผลิตภาพคืออะไรและเหตุใดจึงมีความสำคัญ

ผลิตภาพเป็นประเด็นยอดนิยมมาตั้งแต่ก่อนที่ทั้งโลกจะล็อกดาวน์ ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นกุญแจสำคัญสำหรับธุรกิจ ค้นพบความสำคัญของผลิตภาพ วิธีวัดผล และวิธีเพิ่มผลิตภาพในยุคหลังการแพร่ระบาดใหญ่

ผลิตภาพ | ใช้เวลาอ่าน 10 นาที

เทคนิคการจัดการเวลา

เมื่อวิธีและสถานที่ทำงานของเราเปลี่ยนแปลงไป การช่วยให้บุคลากรที่ทำงานจากทางไกลและบุคลากรหน้างานมีส่วนร่วมและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ เทคนิคบริหารจัดการเวลาเหล่านี้สามารถช่วยคุณได้

ผลิตภาพ | ใช้เวลาอ่าน 9 นาที

สุดยอดเคล็ดลับด้านผลิตภาพ

มีผลิตภาพเพิ่มขึ้นในขณะเดียวกันก็ปรับตัวให้เข้ากับโลกแห่งการทำงานแบบใหม่ โดยต่อไปนี้คือ 25 วิธีที่จะช่วยให้คุณมีผลิตภาพมากขึ้น ไม่เสียเวลาไปกับอีเมล และได้รับประโยชน์สูงสุดจากเครื่องมือวางแผนด้านผลิตภาพ