Quiet Quitting คืออะไรและจะป้องกันได้อย่างไร
"Quiet Quitting" เป็นวลีหนึ่งที่มีการพูดถึงกันบ่อยๆ ในปี 2022 แต่ทำไมองค์กรจึงเป็นกังวลกับวลีนี้ และนายจ้างจะจัดการกับสิ่งนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ ได้อย่างไรบ้าง


การทำงานล่วงเวลา การเช็คอีเมลนอกเวลางาน และการอาสาจัดกิจกรรมนอกเวลาถือเป็นเรื่องปกติในที่ทำงานมาเป็นเวลานานมากแล้ว ทว่าแนวคิดนั้นกำลังเปลี่ยนไป เพราะตอนนี้พนักงานกำลังเริ่มต่อต้านและมีการกำหนดขอบเขตให้กับวัฒนธรรมการทำงานแบบตลอดเวลา รวมถึงมีการโพสต์เกี่ยวกับเรื่องนี้บนโซเชียลมีเดียด้วย
เราจะช่วยให้คุณเข้าใจเหตุผลเบื้องหลังปรากฏการณ์ที่กำลังขยายวงกว้างนี้ และมอบคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีป้องกันที่นำไปใช้ได้จริง
Quiet Quitting (การเลิกทำงานเกินหน้าที่) คืออะไร
แม้ Quiet Quitting จะฟังดูเหมือนเกี่ยวกับการลาออกจากงาน แต่จริงๆ แล้วความหมายนั้นคือการทำเฉพาะหน้าที่ที่จำเป็นเพื่อรักษาหน้าที่การงานของตัวเองเอาไว้ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ การทำหน้าที่ที่มีผลผูกพันตามสัญญาและ "เลิก" ทำสิ่งที่นอกเหนือจากนั้น พนักงานจะยังคงมาทำงานอยู่ แต่จะไม่ทำอะไรที่อยู่นอกเหนือหน้าที่ของตนเอง ซึ่งอาจจะฟังดูเหมือนการทำงานแบบเป็นไปตามกฎอยู่กลายๆ
Quiet Quitting เป็นรูปแบบหนึ่งของการเลิกมีส่วนร่วมของพนักงานและอาจแสดงออกมาได้ในหลายวิธี เช่น
เลิกงานตรงเวลาทุกวัน
ไม่ตอบข้อความงานนอกเวลางาน
ไม่ทำโปรเจ็กต์ที่อยู่นอกเหนือหน้าที่ในคำอธิบายตำแหน่งงาน
ไม่อาสาทำงาน
รับแต่งานง่ายๆ
งานไม่ค่อยมีผลต่ออารมณ์ของตนเอง
ไม่เต็มใจที่จะใส่ความพยายามกับงานให้มากเป็นพิเศษ
Quiet Quitting ถือได้ว่าเป็นผลที่เกิดจากเทรนด์หลังการระบาดใหญ่ทั่วโลกที่เรียกว่าการลาออกครั้งใหญ่ ที่ซึ่ง "ผู้ที่แสดงว่าอยากลาออกจากงานแบบโต้งๆ" แสดงความคิดเห็นออกมาอย่างโจ่งแจ้งและชัดเจนว่าพวกเขารู้สึกว่าไม่มีคนเห็นคุณค่าและลาออกทันทีเพื่อออกไปค้นพบโอกาสใหม่ๆ จากที่อื่น ในทางกลับกัน ผู้ที่แสดงออกอย่างเงียบๆ ก็กำลังเอาใจออกห่างจากองค์กรปัจจุบันโดยการพยายามลดการทำงานลงอย่างเงียบๆ ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้เกิดความกังวลต่อระดับของผลิตภาพแล้ว ยังอาจส่งผลต่อผลประกอบการของคุณในระดับร้ายแรงโดยที่คุณไม่ทันรู้ตัวมากกว่าพวกที่แสดงออกอย่างโจ่งแจ้งเสียอีก สิ่งนี้เหมือนกับโดนลอบสังหารเลยทีเดียว
เรียนรู้ว่าผู้นำด้านทรัพยากรบุคคลทั่วโลกสร้างวัฒนธรรมองค์กรได้อย่างไร
ดาวน์โหลดเคล็ดลับมืออาชีพทั้ง 6 ข้อเพื่อค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างการมีส่วนร่วมของพนักงานและวัฒนธรรมองค์กร









Quiet Quitting มีความแพร่หลายมากเพียงใด
Quiet Quitting กำลังได้รับความนิยมในฐานะวิธีที่จะช่วยจัดการกับความเครียดและการหมดไฟที่เกิดจากการทำงานเป็นเวลานานโดยไม่หยุดพัก โพลล์ของ Gallup เผยว่าผู้ที่หมดใจไปอย่างเงียบๆ มีอยู่อย่างน้อยๆ ก็ 50% ของพนักงานในสหรัฐ คนทุกรุ่นได้หันมาประเมินสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวของตนกันใหม่ตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลก โดยมีคน Gen Z ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการประเมินทางเลือกในอาชีพของตนอีกครั้ง โดย 82% บอกว่าการทำงานตามหน้าที่เท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาหน้าที่การงานของตนเอาไว้นั้นเป็นสิ่งที่ "น่าสนใจและน่าทำตามมากๆ"
แนวคิดข้างต้นถูกนำเสนออย่างเด่นชัดในความคิดเห็นบางส่วนที่โพสต์ไว้บนโลกออนไลน์โดยใช้แฮชแท็ก #quietquitting ตัวอย่างเช่น "ฉันจะทำงานแค่ให้เพียงพอที่จะไม่ถูกไล่ออกหรือไม่ให้คนอื่นสังเกตเห็น", "ฉันเปลี่ยนคติในการทำงานของตัวเองเป็น 'นกน้อยทำรังแต่พอตัว'” และ "ถ้าอยากให้ทำงานมากขึ้นก็เพิ่มเงินเดือนให้สูงขึ้นด้วย"
ยุโรปเป็นภูมิภาคที่มีเปอร์เซ็นต์ของพนักงานที่มีส่วนร่วมน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับทั่วโลก รายงานเกี่ยวกับสถานที่ทำงานทั่วโลกของ Gallup ประจำปี 2022 แสดงให้เห็นว่าในสหราชอาณาจักร มีพนักงานเพียง 9% เท่านั้นที่มีส่วนร่วมหรือกระตือรือร้นในการทำงาน และได้รับการจัดอยู่ในอันดับที่ 33 จาก 38 ประเทศในยุโรป สิ่งนี้เป็นเหมือนสัญญาณเตือนให้นายจ้างหันมาพิจารณาประเด็นเรื่อง Quiet Quitting กันอย่างจริงจัง
พนักงานที่เป็นคน Gen Z ที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่นและการทำงานอย่างมีความหมายมากที่สุด แต่การระบาดใหญ่ทั่วโลกได้ส่งผลให้พนักงานที่อายุน้อยรู้สึกว่าองค์กรเอาใจใส่พวกเขาน้อยลงและมีโอกาสในการก้าวหน้าลดลง ผลที่เกิดขึ้นข้างต้นแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการที่ผู้จัดการจะต้องได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีในด้านการสนับสนุนความต้องการของผู้มีความสามารถที่เพิ่งเริ่มเข้ามาทำงานใหม่ๆ
ผลกระทบของ Quiet Quitting
ถ้ามองเผินๆ แล้ว Quiet Quitting อาจดูเหมือนไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร เพราะยังไงพนักงานเหล่านี้ก็ยังคงทำงานหลักของตัวเองอยู่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพนักงานที่เต็มใจจะทำงานเกินหน้าที่ก็ทำให้หลายบริษัทได้เปรียบในการแข่งขันเช่นกัน
โดยพนักงานที่รู้สึกไม่มีส่วนร่วมจะส่งผลเสียต่อผลลัพธ์ขององค์กร การศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าบางองค์กรกำลังประสบกับการสูญเสียเงินจำนวนเทียบเท่ากับ 20% ของเงินเดือนประจำปีของพนักงานที่มีพฤติกรรมเอาใจออกห่างไปอย่างเงียบๆ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายรายปีสำหรับเศรษฐกิจในภาพรวมของสหราชอาณาจักรอยู่ที่ 340 พันล้านปอนด์
ผลที่ตามมาที่ชัดเจนที่สุดประการหนึ่งของการ Quiet Quitting คือการมีผลิตภาพต่ำลง แม้ว่าพนักงานจะทำงานของตัวเองไป แต่พวกเขาอาจไม่มีส่วนร่วมในวัฒนธรรมของสำนักงาน การทำงานร่วมกัน การระดมความคิด และการประชุม
ผู้ที่เลิกกระตือรือร้นไปอย่างเงียบๆ มักจะเป็นพนักงานที่ครั้งหนึ่งเคยกระตือรือร้น โดยต้องทำงานหนักเกินไป ได้รับการประเมินคุณค่าต่ำเกินไป และไม่ได้รับการเอาใจใส่ และขวัญกำลังใจที่ต่ำก็ทำให้พวกเขามีความกระตือรือร้นในทีมน้อยกว่าที่เคยเป็น สิ่งเหล่านี้อาจเป็นชนวนที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงานและนำไปสู่สภาพแวดล้อมการทำงานโดยรวมที่ไม่น่าพึงพอใจ
ยิ่งไปกว่านั้น การลาออกครั้งใหญ่และการขาดแคลนทักษะในตลาดแรงงานก็ไม่ได้มาช่วยบรรเทาปัญหาแต่อย่างใด เพราะเมื่อพนักงานลาออก สมาชิกในทีมคนอื่นๆ อาจถูกคาดหวังให้ทุ่มเทความพยายามมากขึ้นจนกว่าจะหาคนมาแทนได้ แทนที่จะให้ผู้จัดการปรับลดปริมาณงานลง ซึ่งก็อาจทำให้พนักงานอาจรู้สึกเหนื่อยล้าและหงุดหงิดเมื่ออัตราการลาออกอยู่ในระดับสูงหรือต้องรอฝึกอบรมพนักงานใหม่เป็นระยะเวลานาน
ทำไมพนักงานจึง Quiet Quitting กัน
แม้ว่าแนวคิดของ "การทำงานเพื่อมีชีวิตอยู่" มากกว่า "การมีชีวิตอยู่เพื่อทำงาน" จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การระบาดใหญ่ทั่วโลกก็ทำให้แนวคิดนั้นทวีความรุนแรงขึ้น การล็อกดาวน์อยู่กับบ้านทำให้หลายคนต้องทบทวนถึงผลกระทบจากการเดินทางในแต่ละวัน ชั่วโมงการทำงาน และการไม่มีเวลาส่วนตัว เหตุผลที่ทำให้เกิดพฤติกรรม Quiet Quitting มีดังต่อไปนี้
องค์กรมีการดำเนินงานในภาวะวิกฤต
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โลกได้เปลี่ยนผ่านจากวิกฤตหนึ่งไปสู่อีกวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นการระบาดของโควิด สงครามในยูเครน และความวุ่นวายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์ระดับโลกทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อธุรกิจ รวมถึงส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและสุขภาพจิตของทุกคน และการที่ต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่ตึงเครียดติดต่อกันเป็นเวลานานก็อาจส่งผลกระทบต่อพนักงานที่มองโลกในแง่ดีมากที่สุดได้เหมือนกัน
ผู้นำและการจัดการไม่มีประสิทธิภาพ
สมาชิกในทีมมีแนวโน้มที่จะเอาใจออกห่างจากองค์กรมากขึ้นเมื่อรู้สึกว่าผู้จัดการของตนไม่ได้ห่วงผลประโยชน์ของพนักงานหรือสื่อสารอย่างไม่มีประสิทธิภาพ บ่อยครั้งที่พนักงานบอกข้อกังวลของตัวเองและรู้สึกว่าผู้จัดการไม่ได้หาวิธีจัดการกับข้อกังวลนั้นอย่างเพียงพอ
และเมื่อพนักงานรู้สึกว่าผู้นำไม่ได้ให้การสนับสนุน พวกเขาก็จะตั้งกำแพงขึ้นมาเพื่อปกป้องตนเอง
ความมั่นคงในหน้าที่การงานที่มากขึ้น
อำนาจได้เปลี่ยนมาอยู่ในมือพนักงานนับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลก เนื่องด้วยการขาดแคลนผู้มีทักษะและค่าใช้จ่ายในการรับสมัครงานที่สูง พนักงานไม่รู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่มีงานทำอีกต่อไป ในทางกลับกัน พวกเขาต้องการงานที่มีความหมายและพร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้งานที่ตรงตามความต้องการที่สูงขึ้นนั้น แต่หากพนักงานไม่สามารถบรรลุความต้องการเหล่าได้ พวกเขาก็มีแนวโน้มที่จะไม่ทำงานเกินหน้าที่
พนักงานหันมาประเมินความสำคัญของงานกันใหม่หลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด
การระบาดใหญ่ทั่วโลกทำให้หลายคนกลับมาพิจารณาเกี่ยวกับการเลือกอาชีพของตนเอง วิธีที่ทุกคนปฏิบัติต่อพวกเขาในที่ทำงาน และสิ่งที่สำคัญสำหรับพวกเขาจริงๆ เพราะท้ายที่สุด พวกเราบางคนก็มักจะมองย้อนกลับไปในชีวิตและหวังว่าเราจะใช้เวลาในสำนักงานมากขึ้น และความคิดนั้นก็ส่งผลกระทบถึงการทำงานจากที่บ้านในช่วงโควิด หรือก็คืองานไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต ดังนั้น บริษัทที่ไม่ส่งเสริมให้พนักงานรักษาสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานจึงไม่น่าดึงดูดอีกต่อไป
พนักงานรู้สึกว่าตัวเองถูกประเมินต่ำเกินไปและไม่ได้รับผลตอบแทนอย่างสมน้ำสมเนื้อ
บางครั้งพนักงานส่วนใหญ่ก็เต็มใจที่จะทำงานเพิ่ม แต่ผลในเชิงลบก็อาจเกิดขึ้นได้เมื่อความเต็มใจนี้ถูกมองข้ามและกลายเป็นสิ่งที่ทำกันเป็นปกติ
พนักงานมีแนวโน้มที่จะไม่ทำงานเกินหน้าที่หากพวกเขารู้สึกว่าตนเองถูกประเมินค่าต่ำเกินไป ไม่ได้รับการเห็นคุณค่า และไม่มีส่วนร่วมในการทำงาน ค่าจ้างที่ต่ำ การขาดความก้าวหน้าในอาชีพ และการรู้สึกว่าไม่ได้รับการเคารพ เป็นเหตุผลเพียงบางส่วนที่ทำให้พนักงานเลิกกระตือรือร้น
วิธีป้องกันไม่ให้เกิด Quiet Quitting
การต่อต้านที่แสดงออกมาทางพฤติกรรม Quiet Quitting เป็นปัญหาสำหรับองค์กร เนื่องจากเป็นสัญญาณว่าสายสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและพนักงานเริ่มห่างเหินกันมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปนี้คือวิธีแก้ไขพฤติกรรม Quiet Quitting ที่เป็นไปได้บางส่วนเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานของคุณทุ่มเทความพยายามเข้าไปในงานอย่างเต็มที่
ควบคุมปริมาณงาน
การทำงานเกินกำลังเป็นหนึ่งในตัวกระตุ้นที่สำคัญที่สุดที่ก่อให้เกิดความวิตกกังวลและการหมดไฟ หากคุณขอให้พนักงานทำงานเกินหน้าที่ ให้ทำข้อตกลงระยะสั้นหรือมอบสิ่งตอบแทนให้กับความพยายามของพวกเขาด้วยการเลื่อนตำแหน่ง
พนักงานที่มีประสบการณ์น้อยอาจต้องเรียนรู้วิธีจัดลำดับความสำคัญของปริมาณงานเพื่อไม่ให้รู้สึกว่างานที่ทำอยู่นั้นล้นมือเกินไป แต่เป็นเรื่องน่าห่วงที่พนักงานอายุน้อยที่ทำงานจากทางไกลและทำงานแบบไฮบริดจำนวนไม่ถึง 4 ใน 10 คนรู้ว่าที่ทำงานคาดหวังอะไรจากพวกเขา ดังนั้นให้ใช้คำแนะนำที่ชัดเจน เช่น การให้คะแนนงานที่มีลำดับความสำคัญสูง ปานกลาง หรือต่ำ ลดหลั่นกันไป
สร้างสายสัมพันธ์กันใหม่
การสร้างสายสัมพันธ์กับทีมของคุณเป็นสิ่งสำคัญ และยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเมื่อตอนนี้มีคนจำนวนมากทำงานจากที่บ้าน การหายเงียบกันไปอาจทำให้เกิดความกังวลและการขาดการเชื่อมต่อ ดังนั้นคุณจึงควรต่อบทสนทนาเข้าไว้ ผู้นำที่แสดงตัวเองว่าเป็นมนุษย์มากกว่าที่จะเป็นผู้มีอำนาจหรือหน่วยงานที่ไร้ตัวตนบนโลกออนไลน์ มีแนวโน้มที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับพนักงานของตนได้มากกว่า
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ การศึกษาของ Harvard Business Review พบว่าผู้จัดการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดมีคนในทีมที่เลิกทำงานเกินหน้าที่น้อยกว่าสามหรือสี่คน เมื่อเทียบกับผู้นำที่มีประสิทธิภาพน้อยที่สุด
ชมเชยและให้รางวัลสำหรับความพยายาม
ทุกคนอยากรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ซึ่งวิธีหนึ่งที่ทำได้คือการจ่ายค่าตอบแทนให้เหมาะสมกับอัตราตลาดและมาตรฐานค่าครองชีพในปัจจุบัน แต่พึงระลึกไว้เสมอว่าการชมเชยอาจมาในรูปแบบอื่นๆ นอกเหนือจากเงินได้ เช่น การแสดงความชื่นชมต่อหน้าสาธารณชน สิทธิประโยชน์ และการทำงานที่ยืดหยุ่น
การชมเชยและการให้รางวัลสำหรับผลงานที่โดดเด่นของพนักงาน หมายความว่าคุณกำลังแสดงให้พนักงานเห็นว่าสิ่งที่พวกเขาทำนั้นมีความสำคัญ นอกจากนี้ พนักงานที่ได้รับการชมเชยความสำเร็จต่อสาธารณะ ก็มีโอกาสน้อยลงที่จะเลิกมีส่วนร่วมและเลิกทำงานเกินหน้าที่ไปอย่างเงียบๆ
เปิดโอกาสให้พนักงานได้แสดงความเห็น
สมาชิกในทีมที่รู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับการรับฟังจะตอบสนองโดยการเอาใจออกห่างจากองค์กร แต่คุณสามารถป้องกันได้โดยการรับฟังพนักงานของคุณอย่างจริงใจและคอยถามไถ่ความรู้สึกของพวกเขา
การกำหนดเวลาพูดคุยและการประชุมทีม ทั้งแบบออนไลน์และแบบตัวต่อตัว เป็นประจำก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะในฐานะผู้นำ คุณมีหน้าที่ในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยซึ่งพนักงานรู้สึกสบายใจที่จะแสดงความคิดเห็นออกมา
ปรับปรุงมาตรการด้านสุขภาวะ
เมื่อคุณให้ความสำคัญกับสุขภาพจิต สุขภาพกาย และสุขภาพทางอารมณ์ของพนักงานมากขึ้น พนักงานก็มักจะไม่ตั้งกำแพงเพื่อปกป้องสุขภาวะของตนเองด้วยการไม่กระตือรือร้นกับการทำงาน
ตัวอย่างของวิธีการดีๆ ที่คุณสามารถทำได้ เช่น การแนะนำการฝึกสติ การทำงานจากทางไกลอย่างน้อยหนึ่งวันต่อสัปดาห์ และการสนับสนุนด้านการจัดการทางการเงิน
กำหนดขอบเขตให้ชัดเจน
การทำงานแบบไฮบริดและการทำงานจากทางไกลอาจทำให้ขอบเขตระหว่างชีวิตที่บ้านและที่ทำงานไม่ชัดเจนได้ และบางครั้ง Quiet Quitting ก็เป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อการไม่เคารพขอบเขตของการทำงานดังกล่าว ดังนั้นให้กำหนดนโยบายโดยมีการระบุว่าพนักงานสามารถเลือกที่จะไม่รับสายหรือตอบอีเมลนอกเวลางานได้ หรือใช้ระบบสำหรับการติดต่อนอกเวลางาน ให้พนักงานที่ทำงานเกินเวลาได้เลิกงานก่อนเวลาในวันอื่นๆ
ยิ่งคุณมีความกระตือรือร้นเกี่ยวกับสิทธิของพนักงานในเรื่องเวลาส่วนตัวมากเท่าไร พนักงานก็จะยิ่งไม่ต้องเอาเรื่องส่วนตัวมาปะปนกับเรื่องงานมากขึ้นเท่านั้น
ถ้าจะพูดย่อๆ ก็คือ Quiet Quitting กลายเป็นเรื่องสำคัญเนื่องจากลักษณะที่เกิดขึ้นส่งผลให้ผลิตภาพ การเติบโต และผลกำไรลดลง รวมถึงพนักงานที่ไม่ได้กระตือรือร้นก็จะไม่มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ แต่ Quiet Quitting ก็ทำหน้าที่เป็นเครื่องเตือนใจถึงความสำคัญของการรักษาสมดุลและหลีกเลี่ยงอาการหมดไฟ ไม่ว่าคุณจะเป็นคนรุ่นใดก็ตามด้วยเช่นกัน
อ่านต่อ
หัวข้อที่เกี่ยวข้อง
เรียนรู้ว่าผู้นำด้านทรัพยากรบุคคลทั่วโลกสร้างวัฒนธรรมองค์กรได้อย่างไร
ดาวน์โหลดเลย
เชื่อมต่อถึงกันอยู่เสมอ
รับข่าวสารและข้อมูลเชิงลึกล่าสุดจากบุคลากรหน้างาน
เมื่อส่งแบบฟอร์มนี้ จะถือว่าคุณยินยอมที่จะรับการติดต่อสื่อสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับการตลาดจาก Facebook ซึ่งประกอบด้วยข่าวสาร กิจกรรม ข้อมูลอัพเดต และอีเมลส่งเสริมการขาย โดยคุณสามารถถอนความยินยอมและเลิกรับอีเมลดังกล่าวได้ทุกเมื่อ นอกจากนี้ คุณยังรับทราบว่าได้อ่านและยอมรับข้อกำหนดด้านความเป็นส่วนตัวบน Workplace แล้ว
หัวข้อที่เกี่ยวข้อง