การทำงานในเมตาเวิร์สมีลักษณะเป็นอย่างไร การทำงานแบบไฮบริดจะอยู่กับเราต่อไปอีกนานใช่ไหม แม้คุณจะไม่สามารถคาดเดาอนาคตที่รออยู่ข้างหน้าได้ 100% แต่อย่างน้อยคุณก็สามารถเตรียมองค์กรของคุณให้พร้อมสำหรับอนาคตได้

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาได้เปลี่ยนแปลงโลกแห่งการทำงานไปตลอดกาล การระบาดใหญ่ทั่วโลกได้สอนให้เรารู้ว่าวิธีการที่เราทำงานสำคัญกว่าสถานที่ที่เราใช้ทำงานมาก

การทำงานแบบไฮบริดและการทำงานจากทางไกลกลายเป็นเรื่องปกติสำหรับองค์กรหลายแห่ง และรูปแบบการทำงานเหล่านี้ได้เปิดโอกาสไปสู่สถานที่ทำงานสมัยใหม่

นอกจากนี้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างเมตาเวิร์ส, Virtual Reality, Augmented Reality และปัญญาประดิษฐ์ก็เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการทำงาน ภาระงาน และทักษะอีกด้วย การปฏิวัติดิจิทัลเริ่มมีอิทธิพลสำคัญต่ออุตสาหกรรมทุกภาคส่วน นับตั้งแต่โทรเวชกรรมในแวดวงการดูแลสุขภาพ ไปจนถึงอีคอมเมิร์ซในอุตสาหกรรมการขายปลีก

ไม่ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรก็ตาม กุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จคือการนำสภาพแวดล้อมทางกายภาพ แบบไฮบริด และแบบเสมือนที่ดีที่สุดมารวมไว้ด้วยกัน เพื่อปลดล็อกศักยภาพการทำงานของคุณให้เต็มที่

มาพูดคุยเกี่ยวกับอนาคตแห่งการทำงานกัน

เรากำลังพยายามค้นหาคำตอบของคำถามที่สำคัญที่สุดที่เราทุกคนต่างสงสัยเกี่ยวกับการทำงานในเมตาเวิร์ส มาดูกัน

อนาคตของการทำงานจะเป็นอย่างไร

อนาคตของการทำงานจะเป็นอย่างไร

ภาวะการแพร่ระบาดเป็นตัวกระตุ้นให้สถานที่ทำงานเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากความจำเป็นเร่งด่วนในการรักษาผู้คนให้ปลอดภัย

แม้จะไม่มีลูกแก้วพยากรณ์ แต่เราก็สามารถทำนายได้ว่าการทำงานจากทางไกลและการทำงานแบบไฮบริดจะยังคงอยู่กับเราไปอีกนาน ทั้งนายจ้างและพนักงานต่างก็ค้นพบประโยชน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางที่น้อยลง ตารางการทำงานที่ยืดหยุ่น คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการทำงานจากทางไกล ซึ่งเทรนด์นี้จะยังคงอยู่อีกยาวนาน

อย่างไรก็ตาม องค์กรต่างๆ จะต้องปรับปรุงแนวทางการทำงานเป็นทีมจากทางไกลในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม มิตรภาพ และการทำงานร่วมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้คนสมัยก่อนสามารถทำได้เมื่อพบปะกันในสถานที่จริงเท่านั้น เพราะหากไม่ทำเช่นนั้น ผู้คนก็อาจเริ่มรู้สึกโดดเดี่ยว เบื่อหน่าย และมีกำลังใจถดถอยลงกว่าเดิมได้

ด้วยเหตุนี้ เทคโนโลยีที่ทำให้คนเราก้าวเท้าเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ตอย่าง "เมตาเวิร์ส" จึงเข้ามามีบทบาทเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เกิดการทำงานรูปแบบใหม่ที่ Mark Zuckerberg ซีอีโอของ Meta เรียกว่า "ออฟฟิศไร้พรมแดน"

กล่าวคือพนักงานที่ใช้ Virtual Reality (VR) และ Augmented Reality (AR) จะสามารถสร้างและแบ่งปันโลกแห่งการทำงานร่วมกันในรูปแบบออนไลน์ โดยสามารถเข้าสังคม เล่นเกม หรือทำงานในโปรเจ็กต์ต่างๆ ร่วมกันจากทุกที่ได้ และแม้ว่าประสบการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จากเครื่องมือออนไลน์ในปัจจุบันแล้วก็ตาม แต่เทคโนโลยีเหล่านี้จะยิ่งมีความสมจริงมากขึ้น จนทำให้โลกจริงและโลกเสมือนกลมกลืนกัน

ระบบอัตโนมัติจะมีส่วนสำคัญในการกำหนดอนาคตของการทำงานด้วยเช่นกัน แม้ระบบอัตโนมัตินี้อาจเข้ามาแทนที่งานและภาระหน้าที่ได้นับล้านรายการ แต่เหตุการณ์ในอดีตก็ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่าความกลัวว่าเครื่องจักรจะครองโลกนั้นไม่มีพื้นฐานอยู่บนความเป็นจริง ความกังวลนี้เคยเกิดขึ้นในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมเช่นกัน แต่ตลาดแรงงานมีแนวโน้มที่จะปรับตัวให้เข้ากับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และงานที่หายไปนี้มักจะถูกแทนที่ด้วยการสร้างงานใหม่

แล้วอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เอกสารจากสภาเศรษฐกิจโลกได้นำเสนอสถานการณ์ 8 ประการเกี่ยวกับอนาคตของการทำงานภายในปี 2030 การรายงานได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าสถานการณ์เหล่านี้ไม่ใช่การคาดการณ์ แต่เป็นแนวคิดเพื่อส่งเสริมการอภิปรายและช่วยให้องค์กรต่างๆ เตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่แน่นอนในทุกรูปแบบ (แม้กระทั่งอนาคตที่ไม่พึงปรารถนา) โดยพิจารณาตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี วิวัฒนาการทางการเรียนรู้ และการโยกย้ายบุคลากรที่มีความสามารถหลายๆ รูปแบบร่วมกัน

  1. การพึ่งพาตนเองด้านแรงงาน

    การพึ่งพาตนเองด้านแรงงานคือเศรษฐกิจชาตินิยมที่มุ่งหวังพึ่งตนเอง โดยสถานภาพที่เป็นอยู่จะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไป และไม่มีการเร่งความก้าวหน้าในเทคโนโลยี การเรียนรู้ หรือการโยกย้ายสายงาน สถานการณ์นี้ทำให้นายจ้างต้องย้ายงานที่ใช้ทักษะสูงไปยังประเทศที่มีตลาดที่ไม่มีข้อจำกัด

  2. การเคลื่อนย้ายเป็นจำนวนมาก

    ในสถานการณ์นี้ ทั้งพนักงานที่มีทักษะต่ำและสูงต่างก็มองหาโอกาสที่ดีกว่า แม้กรณีนี้จะช่วยให้องค์กรได้รับบุคลากรที่มีความสามารถที่สุด แต่ก็ทำให้การแข่งขันเพิ่มขึ้นจนอาจนำไปสู่ความตึงเครียดทางสังคมได้

  3. การแทนที่ของหุ่นยนต์

    ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้เครื่องจักรเข้ามาทดแทนการทำงานมากขึ้น ซึ่งรวมไปถึงงานที่ต้องใช้ทักษะสูงด้วย วิวัฒนาการทางการเรียนรู้ที่ช้าทำให้เกิดความต้องการทักษะใหม่ๆ เป็นอย่างสูง เช่น การเขียนโปรแกรมและการพัฒนาข้อมูล แต่กลับเป็นเรื่องที่ปวดใจเมื่อสิ่งนี้ทำให้ความต้องการในการใช้เทคโนโลยีแทนที่ผู้คนสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

  4. โลกที่แบ่งขั้ว

    ระบบอัตโนมัติยังคงมีบทบาทในการทำงานที่ใช้แรงงานและไม่ใช้แรงงาน โดยหุ่นยนต์ เครื่องจักร และอัลกอริทึมทำหน้าที่ในการผลิตของโลกเป็นส่วนใหญ่ สถานการณ์นี้ส่งผลให้แรงงานส่วนใหญ่เริ่มประสบปัญหาตกงาน ดังนั้น การโยกย้ายสายงานในวงกว้างจะทำให้เกิดเศรษฐกิจมหาอำนาจที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลก

  5. ผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริม

    ก้าวของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีตรงกับการเรียนรู้ เนื่องจากรัฐบาลและภาคธุรกิจคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำและตอบสนองต่อปัญหาการขาดแคลนทักษะที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งทำให้เกิดพลวัตในที่ทำงาน โดยที่พนักงานสร้างโอกาสในการเป็นผู้ประกอบการให้กับตนเอง

  6. การหลั่งไหลของผู้มีทักษะ

    การเรียนรู้ที่ก้าวไปอย่างรวดเร็วทำให้เกิดบุคลากรที่มีทักษะสูง มีแรงจูงใจ และมีความเป็นพลวัตอยู่ในภูมิภาค อุตสาหกรรม และภาคส่วนธุรกิจที่หลากหลาย

  7. ลูกจ้างที่มีประสิทธิภาพในการทำงาน

    เทคโนโลยีเข้ามาแทนที่บทบาทที่ต้องใช้แรงงานและไม่ต้องใช้แรงงาน แต่ด้วยการปฏิรูปการศึกษา การลงทุนทางธุรกิจในด้านทักษะ และพนักงานที่ต้องการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างระบบอัตโนมัติและการจ้างงาน

  8. ผู้ที่ปรับตัวได้ไว

    แม้งานจำนวนมากกลายเป็นระบบอัตโนมัติ แต่ความต้องการบุคลากรเพื่อช่วยเสริมการทำงานของเครื่องจักรยังคงมีอยู่มาก ทั้งนี้ก็เพราะบทบาทใหม่ที่เกิดขึ้นมา การโยกย้ายสายงานที่สูงและการทำงานออนไลน์จึงทำให้เกิดตลาดงานที่คล่องตัวและกระจายไปทั่วโลกอย่างแท้จริง

Employee working from home - example of how the future of work can look like
เทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงอนาคตของการทำงานอย่างไร

เทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงอนาคตของการทำงานอย่างไร

เทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทอย่างมากในการช่วยให้พนักงานผ่านพ้นช่วงการแพร่ระบาดใหญ่ นับตั้งแต่การประชุมผ่านวิดีโอไปจนถึงการประมวลผลบนระบบคลาวด์ แต่นั่นเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น เรามาดูผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากความก้าวหน้าในการเปลี่ยนแปลงการทำงานเป็นดิจิทัลกัน

5G

การเปลี่ยนไปใช้เครือข่ายไร้สาย 5G มีศักยภาพในการปฏิวัติอุตสาหกรรมได้ทั้งหมด นับตั้งแต่การผลิตและการขนส่งไปจนถึงการดูแลสุขภาพและการค้าปลีก 5G ช่วยให้เราเชื่อมต่อและผสานการทำงานของเทคโนโลยีต่างๆ เช่น AR และ VR ได้อย่างรวดเร็วฉับไว

โรงงานอัจฉริยะสามารถปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ขณะที่การขนส่งสินค้าสามารถพัฒนาไปพร้อมๆ กับยานพาหนะอัตโนมัติได้ สำหรับด้านการดูแลสุขภาพ บุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่สามารถเดินทางไปยังสถานที่ห่างไกลจะตรวจและวินิจฉัยโรคผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น และยังมีความหวังว่าเมื่อผู้คนสามารถเข้าถึง 5G ได้มากขึ้น เทคโนโลยีนี้จะช่วยเติมเต็มช่องว่างระหว่างพนักงานรายได้สูงและรายได้ต่ำ

เมตาเวิร์ส

บุคลากรบางอาชีพ เช่น ทหาร ศัลยแพทย์ และนักบิน ใช้แว่น VR และ AR ในการฝึกฝนอยู่แล้ว แต่เมตาเวิร์สแห่งอนาคตจะช่วยทำให้ผู้คนสามารถทำงานร่วมกันและแบ่งปันความคิดได้ง่ายขึ้นกว่าที่เคย

คุณจะได้เข้าร่วมการประชุมเสมือนจริงในรูปแบบอวาตาร์ 3D หรือเข้าร่วมการฝึกอบรมแบบเสมือนจริงได้ในเวลาที่คุณสะดวก อีกทั้งคุณยังสามารถพกพาโต๊ะทำงานที่สมบูรณ์แบบไปกับคุณได้ทุกที่ ซึ่งหมายความว่าคุณจะนั่งทำงานกลางสวนสาธารณะในวันที่อากาศดีก็ได้ ศัลยแพทย์ฝึกหัดจะสามารถยืนดูการผ่าตัดของอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญประจำสาขาของตนได้อย่างใกล้ชิด แม้ว่าการผ่าตัดนั้นจะดำเนินการอยู่ในอีกซีกโลกก็ตาม สถาปนิกในสหราชอาณาจักรจะสามารถมองเห็นโมเดล 3 มิติที่ลอยอยู่เหนือโต๊ะผ่านแว่นตา AR และฟังหลักการออกแบบที่สำคัญจากอาจารย์ในสหรัฐฯ ไปพร้อมๆ กัน ความเป็นไปได้นั้นไม่มีขอบเขตสิ้นสุด...

ระบบอัตโนมัติ AI และหุ่นยนต์

ความต้องการประสิทธิภาพที่ดีขึ้นโดยไม่ลดทอนคุณภาพจะทำให้เกิดการพึ่งพาระบบอัตโนมัติมากขึ้น Gartner คาดการณ์ว่า ภายในปี 2024 องค์กรจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการได้ 30% โดยการผสานระบบการทำงานอัตโนมัติเข้ากับกระบวนการทำงานที่มีอยู่

หุ่นยนต์จะมีหน้าที่ทำงานในโกดัง โรงพยาบาล และร้านค้าปลีกมากขึ้น และรับผิดชอบงานเสี่ยงอันตรายที่ปัจจุบันยังคงเป็นหน้าที่ของมนุษย์มากขึ้น ผู้ช่วย AI จะเรียนรู้รูปแบบการทำงานของเราเพื่อช่วยปรับปรุงผลิตภาพ ประสิทธิภาพการทำงาน และการบริหารจัดการการติดตามงานในแต่ละวัน

แม้ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นจะเป็นสิ่งที่ดี แต่สุดท้ายก็จะต้องมีการปรับสมดุลของบทบาทการทำงานใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งยังเกิดความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลที่รวบรวมผ่านเทคโนโลยีในที่ทำงานรูปแบบใหม่ ผู้ร่างกฎหมายจึงอาจต้องควบคุม AI ในประเด็นของจริยธรรม ความรับผิด และสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อเพิ่มความไว้วางใจในเทคโนโลยี

Internet of Things

Internet of Things (IoT) คืออุปกรณ์หลายพันล้านเครื่องที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต และรวบรวมข้อมูลผ่านเครือข่ายไร้สายโดยปราศจากการแทรกแซงของมนุษย์

เทคโนโลยีนี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการทำงานในที่ทำงาน เช่น การสั่งหมึกเครื่องพิมพ์โดยอัตโนมัติเมื่อหมึกเหลือน้อย หรือการปิดไฟและเครื่องปรับอากาศเมื่อไม่มีคนอยู่ในห้อง เทคโนโลยี IoT ที่เกิดขึ้นใหม่เหล่านี้จะทำให้อุปกรณ์ในที่ทำงานชาญฉลาดยิ่งขึ้น ทำให้ขั้นตอนการเช็คอินเป็นไปโดยอัตโนมัติ และใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับคนในพื้นที่เพื่อระบุพื้นที่ที่แออัด กระบวนการทำงานที่ช่วยผ่อนแรงจะทำให้พนักงานมีเวลาทำงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น และสามารถให้ความสำคัญกับงานที่ซับซ้อนมากขึ้นได้

วิธีรับมือกับอนาคตของการทำงาน

วิธีรับมือกับอนาคตของการทำงาน

การก้าวให้ทันกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วอาจเป็นเรื่องยาก แต่หากคุณไม่ปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจทำให้คุณเสี่ยงที่จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ผู้นำจะต้องมีความกระตือรือร้นในการเตรียมแรงงานให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและอุปสรรคต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในทศวรรษหน้า โดยประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาได้แก่

  • ประสบการณ์ของพนักงาน

    การแพร่ระบาดของโควิดทำให้สิ่งที่ผู้คนคาดหวังจากการทำงานเปลี่ยนแปลงไป พนักงานต้องการได้รับความไว้วางใจในการทำงานจากทุกที่ การมอบประสบการณ์เชิงบวกให้กับพนักงานในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งหากคุณต้องการรักษาพนักงานยอดฝีมือไว้

    ด้วยเพียง 34% ของพนักงานในสหรัฐฯ ที่รู้สึกมีส่วนร่วมในที่ทำงาน องค์กรส่วนใหญ่จึงยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องทำในประเด็นนี้ สิ่งสำคัญอย่างแรกคือการมีผู้จัดการที่มีความเห็นอกเห็นใจและคอยผลักดัน สร้างแรงบันดาลใจ และสนับสนุนทีมเมื่อทีมต้องการ นอกจากนี้ การมอบพื้นที่และเวลาให้พนักงานสามารถทำกิจกรรมเสริมเพื่อช่วยให้จิตใจปลอดโปร่งและจุดประกายความคิดสร้างสรรค์คงเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย

  • การฝึกอบรมและการเรียนรู้

    เทคโนโลยีอุบัติใหม่ แรงงานสูงอายุ และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดทำให้ทักษะที่จำเป็นต้องใช้เพื่อเติบโตในโลกแห่งการทำงานยุคใหม่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว นอกจากทักษะด้านดิจิทัลแล้ว ทักษะด้านสังคมและอารมณ์ก็เป็นที่ต้องการมากขึ้นด้วย จากการสำรวจทั่วโลกของ McKinsey เกี่ยวกับการสร้างทักษะใหม่ ผู้บริหารส่วนใหญ่กล่าวว่าวิธีการอุดช่องว่างด้านทักษะที่ดีที่สุดคือการฝึกอบรมพนักงานที่มีอยู่ ก่อนที่จะหันไปจ้างพนักงานใหม่ ทำสัญญาว่าจ้างชั่วคราว หรือโยกย้ายพนักงานไปทำหน้าที่อื่น

    ธุรกิจที่ลงทุนกับการพัฒนาและการสร้างทักษะใหม่ให้พนักงาน และให้ความสำคัญกับทักษะของบุคลากรมากขึ้น มักมีแนวโน้มได้รับประโยชน์สูงสุด

  • การค้นหาพนักงานยอดฝีมือ

    วิธีการทำงานรูปแบบใหม่นำไปสู่โอกาสในการสร้างบุคลากรที่หลากหลายและครอบคลุม โดยเฉพาะการทำงานจากทางไกลที่สามารถสร้างโอกาสอันเท่าเทียมกันให้กับผู้คนที่มาจากพื้นเพที่หลากหลาย โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ อายุ เพศ หรือความทุพพลภาพ

    องค์กรจำนวนมากขึ้นจะวางแผนพัฒนาความหลากหลายขึ้นในทีมของตน และใช้มาตรการเพื่อต่อต้านความเอนเอียงที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวอาจได้แก่ การลบชื่อออกจากจดหมายสมัครงานและจัดการสัมภาษณ์แบบ "ไม่เห็นหน้า" ซึ่งผู้สมัครงานและผู้สัมภาษณ์จะไม่เห็นกันและกัน

  • พื้นที่ภายในสำนักงาน

    การสร้างสำนักงานให้เหมาะกับอนาคตไม่ใช่เพียงแค่การเปลี่ยนผังที่นั่งใหม่และติดตั้งเครื่องชงกาแฟใหม่เท่านั้น

    คอกทำงานและโต๊ะที่เรียงกันเป็นแถวจะถูกแทนที่ด้วยพื้นที่การทำงานร่วมกัน ห้องสำหรับประชุมผ่านวิดีโอ ระบบจองโต๊ะทำงาน และสวัสดิการด้านสุขภาวะ เช่น พื้นที่สวน บริษัทหลายแห่งกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบธุรกิจแบบไฮบริด ที่พนักงานสามารถทำงานจากที่บ้านในบางครั้ง โดยใช้สำนักงานเป็นพื้นที่สำหรับการประชุม ระดมความคิด และทำงานร่วมกันเป็นหลัก การศึกษาหนึ่งพบว่านายจ้างจำนวน 58% กำลังสร้างห้องประชุม, 31% มีพื้นที่กลางแจ้ง และ 69% มีบาริสต้าหรือร้านกาแฟในที่ทำงาน1

  • วัฒนธรรมในที่ทำงาน

    เมื่อความต้องการของพนักงานเปลี่ยนไป การกลับไปสู่สภาวะเดิมที่เคยเป็นอยู่จึงไม่ใช่ทางออก หากคุณต้องการทำให้พนักงานมีความสุขและมีแรงจูงใจ ข้อดีอย่างหนึ่งของการแพร่ระบาดคือการทำให้องค์กรจำนวนมากต้องกลับมาคิดทบทวนวัฒนธรรมในที่ทำงานใหม่

    วัฒนธรรมเชิงบวกนั้นไม่ได้มีเพียงแค่เวลาการทำงานที่ยืดหยุ่นและโอกาสในการทำงานจากทางไกล แต่ยังรวมไปถึงการส่งเสริมค่านิยมของบริษัท สนับสนุนความเปิดกว้าง และทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง สถานที่ทำงานแห่งอนาคตจะให้ความสำคัญกับการสร้างความเป็นชุมชนและประสบการณ์ที่เหมาะกับแต่ละบุคคลมากขึ้น ซึ่งทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการสนทนาและสนับสนุนให้บุคลากรเหล่านั้นเป็นตัวของตัวเองในที่ทำงาน

ความคิดเห็นของพนักงานเกี่ยวกับอนาคตของการทำงาน

ความคิดเห็นของพนักงานเกี่ยวกับอนาคตของการทำงาน

การระบาดของโควิดถือเป็นช่วงเวลาแห่งการค้นพบของใครหลายๆ คน เพราะทำให้ผู้คนตระหนักได้ถึงสิ่งสำคัญที่แท้จริงในชีวิตและอาชีพการงานของตน ด้วยปริมาณตำแหน่งงานว่างที่พุ่งสูงและแรงงานที่ออกจากตลาดแรงงานไป พนักงานจึงมีอำนาจอย่างมากและอาจเป็นเช่นนี้ต่อไปในอนาคตอันใกล้

องค์กรที่ต้องการจูงใจและรักษาผู้มีความสามารถที่มีความสำคัญต่อการเติบโตขององค์กร จะต้องทำความเข้าใจลำดับความสำคัญของพนักงานในอนาคต

การศึกษาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแรงงานในระดับสากลของ BCW ที่ดำเนินการร่วมกับ Workplace from Meta พบว่าความต้องการด้านที่ทำงานที่พนักงานในปัจจุบันให้ความสำคัญมากที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่

1. การทำงานที่มีความหมาย

2. ความรู้สึกได้รับการสนับสนุนและการมองเห็นความสำคัญจากผู้จัดการของตน

3. ความรู้สึกได้รับการสนับสนุนและการมองเห็นความสำคัญจากทีมของตน

4. สวัสดิการและผลประโยชน์ในที่ทำงาน

5. ทีมผู้นำที่มีคุณภาพ

ความยืดหยุ่นจะยังคงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพนักงานทั่วโลกอยู่ต่อไป 2 ใน 3 (67%) ของพนักงานกล่าวว่าต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในองค์กรมากขึ้น ซึ่งทำให้ตนมีชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่นหรือสภาพแวดล้อมการทำงานแบบไฮบริด

พนักงานในปัจจุบันโดยเฉพาะคน Gen Z ต้องการให้มีผู้รับฟังความคิดเห็น และคาดหวังให้ผู้นำมีความโปร่งใส เข้าถึงได้ และเข้าอกเข้าใจพนักงาน จากแบบสำรวจของ BCW 90% ของพนักงานทั้งหมดกล่าวว่า ซีอีโอควรสนับสนุนหลักปฏิบัติในการทำงานอย่างมีจริยธรรม ในขณะที่ 87% กล่าวว่าบุคลากรในองค์กรทุกระดับควรที่จะเข้าถึงตัวซีอีโอได้

ในขณะเดียวกัน ผลสำรวจของ Harvard Business Review แสดงให้เห็นว่า

  • 86% ของพนักงานเห็นด้วยว่าพนักงานที่หลากหลายจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น เนื่องจากบทบาท ทักษะ และความต้องการของบริษัทเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

  • 83% ของพนักงานคิดว่าคนทำงานมีแนวโน้มที่จะย้ายออกจากเมืองและพื้นที่ชุมชนเมืองมากขึ้นหากสามารถทำงานจากทางไกลเป็นหลักได้ ซึ่งจะทำให้เกิดศูนย์กลางการทำงานแห่งใหม่ในพื้นที่ชนบท

ผลสำรวจนี้แสดงให้เห็นว่าผลตอบแทนทางการเงินไม่ได้เป็นแรงผลักดันสำหรับพนักงานในอนาคตมากเท่าใดนัก แต่กลับเป็นความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานที่ดีขึ้นและโอกาสในการสร้างความเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ผู้คนต้องการจริงๆ คืองานที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ ค่านิยม และเป้าหมายในเส้นทางอาชีพของตน พวกเขาต้องการได้รับการตัดสินจากคุณค่าของงาน ไม่ใช่ปริมาณงานที่ทำ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลคือความคาดหวังของพนักงานนั้นอาจไม่ตรงกับความคาดหวังของนายจ้าง แต่หากองค์กรใดรับฟังและให้ความสำคัญกับความต้องการของพนักงานอย่างจริงจัง องค์กรนั้นจะได้รับผลตอบแทนที่มีความหมายอย่างยิ่ง

ความท้าทายและโอกาสจากอนาคตของการทำงาน

ความท้าทายและโอกาสจากอนาคตของการทำงาน

ช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นรอเราอยู่ข้างหน้า เมื่อการทำงานร่วมกับ VR, เพื่อนร่วมงานในรูปแบบหุ่นยนต์ และนวัตกรรม AI กำลังจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตการทำงานของเรา แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นการเปิดประตูสู่โลกแห่งโอกาส แต่สิ่งเหล่านี้ยังมีความท้าทายอยู่ และนี่คือประเด็นที่คุณควรให้ความสำคัญ

  • ช่องว่างทักษะ

    ผู้นำหลายคนต่างรู้ดีว่า การจ้างพนักงานใหม่ที่มีทักษะตรงตามความต้องการทั้งหมดนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุดคือการมองหาพนักงานจากภายในองค์กร และพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถที่องค์กรมีอยู่แล้ว วิธีนี้มักใช้เวลาดำเนินการเร็วกว่า ใช้ต้นทุนคุ้มค่ากว่า และส่งผลดีต่อขวัญและกำลังใจของพนักงาน

    จากการสำรวจในประเด็นความหวังและความกลัวจากการเพิ่มพูนทักษะของ PwC พบว่า 77% ของพนักงานทั่วโลกกล่าวว่า ตนพร้อมที่จะเรียนรู้ทักษะใหม่หรือทบทวนทักษะทั้งหมดอีกครั้ง แม้ว่าพนักงานจะแสดงความมุ่งมั่นอย่างชัดเจน แต่หนึ่งในความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดที่บริษัทต้องเผชิญคือการคาดการณ์ทักษะที่ผู้คนต้องการจริงๆ ในอีก 10 ปีข้างหน้า เมื่อใดที่ระบบอัตโนมัติเข้ามาแทนที่การทำงานบางอย่าง ผู้ที่มีทักษะเดิมๆ จะต้องฝึกฝนทักษะใหม่

  • ความเท่าเทียมและความเสมอภาค

    สถานที่ทำงานแห่งอนาคตจะต้องส่งเสริมทั้งความเสมอภาคและความเท่าเทียม ความเสมอภาคเกิดขึ้นเมื่อพนักงานภายในสภาพแวดล้อมการทำงานที่หลากหลายมีโอกาสที่เท่าเทียมกัน และได้รับการสนับสนุนเพื่อให้ตนประสบความสำเร็จและเจริญก้าวหน้า ตัวอย่างเช่น นักบัญชีที่มีความพิการอาจต้องการทรัพยากรที่แตกต่างจากนักบัญชีที่ไม่มีความพิการในการทำงานเดียวกัน

    อย่างไรก็ตาม ความเสมอภาคนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้เพียงชั่วข้ามคืน ทางเดียวที่คุณจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้คือการสร้างสถานที่ทำงานที่มีความหลากหลาย ครอบคลุม และเท่าเทียมกัน โดยเริ่มต้นจากการพิจารณากระบวนการบริหารทรัพยากรบุคคลโดยใช้แนวคิดเรื่องความเสมอภาค ตัวอย่างเช่น ทุกคนสามารถเข้าถึงรายละเอียดงานของคุณได้หรือไม่ คุณมีโปรแกรมการให้คำปรึกษาหรือไม่ สิทธิประโยชน์สำหรับพนักงานมีแนวโน้มทำให้พนักงานบางคนรู้สึกถูกกีดกัน หรือเป็นสิทธิพิเศษสำหรับทุกคนหรือไม่

  • เข้าถึงกลุ่มผู้มีศักยภาพที่กว้างขึ้น

    ประโยชน์ที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของการทำงานจากทางไกลคือ การทำให้สถานที่ทำงานไม่เป็นข้อจำกัดอีกต่อไป คุณสามารถเข้าถึงผู้ที่มีศักยภาพได้ในทุกที่ของโลก แต่การว่าจ้างบุคลากรจากกลุ่มผู้มีศักยภาพจากทั่วโลกก็มีความท้าทายเช่นกัน ตัวอย่างเช่น คุณไม่สามารถจัดงานเปิดบ้านเพื่อดูว่าว่าที่ผู้สมัครงานเหมาะสมกับวัฒนธรรมบริษัทของคุณหรือไม่ คุณอาจต้องพิจารณากฎหมายแรงงานท้องถิ่นในประเด็นต่างๆ เช่น การลาป่วย เงินบำนาญ และสิทธิในการลาพักร้อน

    ในอนาคตมีแนวโน้มว่าองค์กรจำนวนมากขึ้นอาจจะจ้างพนักงานเพียงกลุ่มหลักเป็นพนักงานเต็มเวลาเท่านั้น แล้วจึงว่าจ้างฟรีแลนซ์หรือพนักงานจากภายนอกอื่นๆ ที่ไม่ต้องการสวัสดิการพนักงานเข้ามาเติมเต็มบทบาทอื่นๆ ที่สำคัญ

  • การเรียนรู้และการพัฒนา

    คุณไม่สามารถใช้แนวทางแบบสูตรสำเร็จกับกลยุทธ์ด้านการเรียนรู้และการพัฒนาท่ามกลางสภาพแวดล้อมการทำงานแบบไฮบริดได้ การฝึกอบรมจะต้องปรับให้เหมาะกับแต่ละบุคคลและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เนื่องจากพนักงานต้องสามารถเรียนรู้ได้จากทุกที่ ทุกเวลา โดยที่เป็นไปตามเงื่อนไขของตน การวางแผนนำเสนอเนื้อหาในรูปแบบต่างๆ เช่น การสัมมนาออนไลน์ที่มีการโต้ตอบ วิดีโอ หรือแม้แต่ VR อาจช่วยคุณได้ คุณสามารถยกเลิกการทบทวนประสิทธิภาพการทำงาน แล้วเปลี่ยนมาใช้วิธีการให้คำติชมและรับฟังความเห็นจากพนักงานที่ยืดหยุ่นขึ้นแทน โดยที่หัวหน้าทีมจะเน้นการฝึกอบรม การพัฒนาทักษะ และให้พนักงานตั้งเป้าหมายของตนเอง แทนการเข้าไปจัดการทุกกระบวนการทำงานของพนักงานได้ด้วยเช่นกัน

  • การพลิกโฉมที่ทำงาน

    สำหรับที่ทำงานแห่งอนาคตแล้ว ลำดับขั้นในสำนักงานแบบเดิมๆ จะมีความสำคัญน้อยลง องค์กรจะนำโครงสร้างการจัดการแบบราบมาใช้มากขึ้น เช่น การบริหารแบบไร้ผู้บริหาร (Holacracy) ที่ช่วยให้พนักงานสามารถรับผิดชอบงานได้มากขึ้น โดยไม่ต้องมีตำแหน่งงานที่ตายตัว นอกจากนี้ พนักงานทั้งหมดจะมีส่วนเกี่ยวข้องมากขึ้นในทิศทางขององค์กร

    บริษัทจะยึดการทำงานจากทางไกลเป็นพื้นฐานตั้งแต่ต้น แทนที่จะมีทีมการทำงานจากทางไกล 1 หรือ 2 ทีม หรือให้พนักงานสามารถทำงานจากที่บ้านได้เป็นบางครั้ง การประชุมแบบเห็นหน้ากันจะกลายเป็นข้อยกเว้นมากกว่ากฎ เนื่องจากธุรกิจต่างๆ เปิดรับเทคโนโลยีที่ช่วยให้องค์กรสามารถจ้างผู้มีศักยภาพได้จากโซนเวลาต่างๆ องค์กรสมัยใหม่อาจจับกลุ่มพนักงานตามโปรเจ็กต์หรือปัญหาที่ทีมพยายามแก้ไข แทนการจับกลุ่มตามพื้นที่หรือแผนก

    ท้ายที่สุดแล้ว อนาคตของการทำงานล้วนเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนผลิตภาพและการมีส่วนร่วมในสภาพการทำงานแบบไฮบริด อนาคตของการทำงานจะก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้นด้วยการมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยี ความยืดหยุ่น ระบบอัตโนมัติ และแนวทางที่เน้นผู้คนเป็นศูนย์กลาง อนาคตของการทำงานกำลังเกิดขึ้นแล้ว คุณพร้อมที่จะก้าวสู่อนาคตนี้หรือยัง

อ่านต่อ

บทความนี้มีประโยชน์หรือไม่
ขอบคุณสำหรับความเห็นของคุณ

โพสต์ล่าสุด

วัฒนธรรม | ใช้เวลาอ่าน 11 นาที

วัฒนธรรมในที่ทำงาน: วิธีสร้างวัฒนธรรมเชิงบวกและเพิ่มผลิตภาพ

วัฒนธรรมในที่ทำงานมีความสำคัญยิ่งขึ้นในโลกของการทำงานแบบผสมผสานและการทำงานจากทางไกล ร่วมหาคำตอบว่าวัฒนธรรมในที่ทำงานคืออะไรและคุณจะปรับปรุงวัฒนธรรมนี้ได้อย่างไร

วัฒนธรรม | ใช้เวลาอ่าน 8 นาที

ค่านิยมขององค์กรคืออะไร และเหตุใดจึงมีความสำคัญ

ค่านิยมขององค์กรสามารถชี้นำทิศทางแก่พนักงานและให้เหตุผลที่จะเชื่อมั่นแก่ลูกค้า เรามาดูวิธีพัฒนาและสื่อสารค่านิยมขององค์กรกัน

วัฒนธรรม | ใช้เวลาอ่าน 8 นาที

วัฒนธรรมองค์กร 4 ประเภท: แบบใดดีที่สุดสำหรับธุรกิจ

ตัวตนของธุรกิจเป็นการผสมผสานที่ไม่เหมือนใครของวัฒนธรรมต่างๆ ขององค์กร ดูว่าคุณจะค้นหาตัวตนของธุรกิจและใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของตัวตนนั้นได้อย่างไร