คุณเป็นผู้นำรูปแบบใด จาก 11 แบบที่มีให้เลือกนี้

หมดยุคที่ผู้นำแค่ออกคำสั่งและพนักงานก็ทำตามไปนานแล้ว ปัจจุบันนี้ เรามีวิธีต่างๆ มากมายในการเป็นผู้นำ แต่แบบใดกันที่เหมาะกับคุณมากที่สุด

ความเป็นผู้นำ | ใช้เวลาอ่าน 8 นาที
รูปแบบการเป็นผู้นำคืออะไร

รูปแบบการเป็นผู้นำคืออะไร

รูปแบบการเป็นผู้นำของบุคคล คือวิธีการที่บุคคลหนึ่งใช้เพื่อแนะนำ จูงใจ และดูแลทีมของตนเอง

แม้ว่าเราทุกคนจะมีวิธีการทำสิ่งต่างๆ ในแบบของตัวเอง แต่คุณลักษณะและอุปนิสัยบางอย่างก็เข้ากับรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งโดยเฉพาะ บุคลิกภาพ ทักษะ ค่านิยม และประสบการณ์ในอดีต ล้วนเป็นตัวกำหนดแนวทางการดำเนินงานของผู้นำ แม้ว่าการเป็นผู้นำบางรูปแบบอาจคล้ายคลึงกัน แต่ละรูปแบบก็มีข้อดีและข้อเสียต่างกันไป และสามารถกำหนดแนวทางเชิงกลยุทธ์ที่องค์กรจะใช้ได้

"คุณเป็นผู้นำรูปแบบใด" ยังเป็นคำถามในการสัมภาษณ์ที่พบบ่อยหากคุณสมัครตำแหน่งผู้จัดการประเภทใดก็ตาม ดังนั้น การรู้คำตอบไว้ล่วงหน้าจึงดีไม่น้อย

ผู้นำเกือบครึ่งหนึ่งรู้สึกว่าการกระทำของตนถูกจับตามองอย่างถี่ถ้วนกว่าเมื่อก่อน รูปแบบที่คุณเลือกจึงอาจมีผลกระทบอย่างมากต่อทีมและแบรนด์บริษัทได้

นักจิตวิทยานาม Kurt Lewin เป็นผู้จำแนกรูปแบบพื้นฐานของการเป็นผู้นำเป็นคนแรกในช่วงทศวรรษ 1930 และรูปแบบเหล่านี้ได้เป็นรากฐานสำหรับแนวทางมากมายที่ตามมานับตั้งแต่นั้น

ขจัดปัญหาในที่ทำงานด้วย Workplace

ไม่ว่าคุณจะต้องการแจ้งให้ทุกคนทราบเกี่ยวกับการกลับสู่ที่ทำงาน หรือนำวิธีการทำงานแบบผสมผสานไปปรับใช้ Workplace ก็สามารถทำให้การทำงานเป็นเรื่องง่ายขึ้นได้

รูปแบบการเป็นผู้นำแบบใดที่เหมาะกับคุณ

รูปแบบการเป็นผู้นำแบบใดที่เหมาะกับคุณ

เป็นไปได้ว่าคุณจะเอนเอียงไปทางรูปแบบการเป็นผู้นำสักแบบโดยธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นรูปแบบที่ช่วยเสริมบุคลิกภาพของคุณ และทำให้คุณรู้สึกสบายใจที่สุดในบทบาทของตัวเอง

แต่เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของคุณคนเดียวเท่านั้น เพราะคุณจะต้องคำนึงถึงทีมของคุณด้วย เช่น หากคุณมีทีมที่ค่อนข้างขาดประสบการณ์ การเลือกรูปแบบผู้นำที่คอยชี้แนวทางให้แก่ทีมก็จะเหมาะสมกว่า ในทางกลับกัน หากคุณไว้วางใจให้พนักงานจัดการภาระงานของตนเอง คุณก็สามารถรับบทเป็นผู้นำที่คอยฝึกสอนได้

ความเข้าใจในรูปแบบการเป็นผู้นำของคุณนั้นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะช่วยให้คุณทำสิ่งเหล่านี้

  • สร้างจุดแข็งด้านความเป็นผู้นำของคุณ

  • ระบุทักษะการเป็นผู้นำที่คุณต้องพัฒนา

  • ให้คำแนะนำและคำติชมแก่พนักงาน

  • เข้าใจกระบวนการคิดของคุณได้มากขึ้น

  • พิจารณาวิธีการตัดสินใจและกำหนดเป้าหมายของคุณ

  • กำหนดกลยุทธ์ระยะสั้นและระยะยาวสำหรับธุรกิจของคุณ

  • เข้าใจมุมมองที่พนักงานมีต่อคุณมากยิ่งขึ้น

การเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จคือการรู้จักตัวเองให้มากขึ้น การตระหนักรู้ตนเองนั้นสำคัญ แต่การรับความเห็นจากคนที่คุณนำอยู่ก็มีประโยชน์เช่นกัน แม้ว่าความเห็นเหล่านั้นจะไม่ใช่สิ่งที่คุณต้องการได้ยินเสมอไป แต่ยิ่งความเห็นมีความเปิดเผยและจริงใจมากเท่าใด คุณก็ยิ่งพัฒนาและปรับปรุงได้มากเท่านั้น

ข่าวดีก็คือ ไม่มีรูปแบบการเป็นผู้นำแบบใดที่ดีที่สุด เพราะคุณมักจะต้องปรับแนวทางของคุณให้เหมาะกับสถานการณ์ และรูปแบบของคุณก็น่าจะพัฒนาไปตามกาลเวลาเมื่อคุณมีประสบการณ์มากขึ้น แต่ด้วยเหตุนี้เอง การทำความคุ้นเคยกับรูปแบบการเป็นผู้นำต่างๆ จึงมีประโยชน์ เพราะคุณจะเปลี่ยนไปใช้แนวทางอื่นได้อย่างมั่นใจเมื่อสถานการณ์เรียกร้อง ซึ่งจะทำให้คุณเป็นผู้นำที่ดีขึ้นและมีเหตุผลมากขึ้นไปด้วย

รูปแบบการเป็นผู้นำทั้ง 11 แบบ

รูปแบบการเป็นผู้นำทั้ง 11 แบบ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักวิจัยได้พัฒนาทฤษฎีและกรอบแนวคิดต่างๆ เพื่อช่วยจำแนกรูปแบบการเป็นผู้นำที่ต่างกัน รูปแบบบางส่วนที่พบบ่อยสุดมีดังนี้

การเป็นผู้นำแบบอัตตาธิปไตย

หรือเรียกอีกอย่างว่า การเป็นผู้นำแบบอำนาจนิยม

ผู้นำแบบอัตตาธิปไตยนั้นกุมอำนาจทั้งหมด และตัดสินใจโดยพิจารณาความเห็นของคนอื่นๆ ในกลุ่มเพียงน้อยนิดหรือไม่คำนึงถึงเลย ผู้นำรูปแบบนี้ให้คำแนะนำที่ชัดเจนว่าต้องทำอะไรและเมื่อใดเหมือนกับผู้บัญชาการทหาร

  • ข้อดี: การเป็นผู้นำแบบอัตตาธิปไตยจะมีประสิทธิภาพอย่างยิ่งเมื่อคุณต้องตัดสินใจให้เร็วหรือปฏิบัติตามข้อบังคับ เพราะทำให้พนักงานใหม่ที่ยังอ่อนประสบการณ์เข้าใจแนวทางได้อย่างชัดเจน

  • ข้อเสีย: รูปแบบที่จัดการเรื่องยิบย่อยทุกอย่างอาจทำให้พนักงานรู้สึกเคร่งเครียดและกดดัน รวมทั้งยังแทบไม่เปิดโอกาสให้ทำงานร่วมกันหรือแสดงความคิดสร้างสรรค์เลย นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดการพึ่งพาผู้นำเพียงคนเดียวมากเกินไปด้วย

การเป็นผู้นำแบบถืออำนาจใหญ่

หรือเรียกอีกอย่างว่า การเป็นผู้นำด้านวิสัยทัศน์

ผู้นำแบบถืออำนาจใหญ่เข้าใจแนวทางที่องค์กรต้องดำเนินเพื่อให้ประสบความสำเร็จ และไม่หวั่นต่อความพ่ายแพ้เล็กน้อย คุณไม่ควรสับสนกับการเป็นผู้นำแบบอำนาจนิยม เพราะผู้นำประเภทนี้กำหนดวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนสำหรับอนาคต และให้ทิศทางคร่าวๆ เพื่อช่วยให้ทุกคนไปถึงจุดหมายนั้น

  • ข้อดี: ทีมที่เต็มใจยอมรับในวิสัยทัศน์ของผู้นำมีแนวโน้มที่จะได้รับแรงจูงใจและแรงบันดาลใจในการทำงานอย่างเต็มที่ อีกทั้งยังมีความมั่นใจที่จะเอาชนะอุปสรรคในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนด้วย

  • ข้อเสีย: บางครั้งผู้นำแบบถืออำนาจใหญ่อาจโฟกัสกับแนวคิดระยะยาวมากเกินไป โดยไม่ได้คำนึงถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน นอกจากนี้ อีโก้ที่สูงยังอาจเป็นอุปสรรคต่อการรับฟังไอเดียของผู้อื่นได้

การเป็นผู้นำตามแบบแผน

ผู้นำตามแบบแผนปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัดและคาดหวังให้บุคลากรของตนทำเช่นเดียวกัน ผู้นำเหล่านี้อาจไตร่ตรองความเห็นของผู้อื่น ทว่าจะไม่ดำเนินการหากไม่สอดคล้องกับนโยบายของบริษัท รูปแบบนี้เหมาะที่สุดกับบริษัทขนาดใหญ่หรือมีชื่อเสียงซึ่งประสบความสำเร็จอยู่แล้ว หรืองานที่มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย

  • ข้อดี: การเป็นผู้นำตามแบบแผนรับประกันความมั่นคงและลดความเสี่ยงที่จะล้มเหลว มีความชัดเจน เกิดประสิทธิภาพ และช่วยให้ผู้คนทราบสถานะของตน

  • ข้อเสีย: รูปแบบนี้ไม่ให้อิสระมากนัก ทำให้มีประสิทธิภาพน้อยมากกับองค์กรที่ต้องอาศัยความยืดหยุ่น ความสร้างสรรค์ หรือการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ

การเป็นผู้นำแบบฝึกสอน

การเป็นผู้นำแบบฝึกสอนเป็นเรื่องของการพัฒนาความสามารถของสมาชิกทีมแต่ละคน โดยมุ่งเน้นที่จุดแข็งและจุดอ่อนของสมาชิกเพื่อช่วยปรับปรุง ผู้นำประเภทนี้อาจกระตุ้นให้พนักงานรับภาระหน้าที่ใหม่ๆ โดยมอบคำแนะนำ การสนับสนุน และคำติชมที่สร้างสรรค์ไปพร้อมกัน ซึ่งจะเหมาะที่สุดกับพนักงานที่ชอบเป็นส่วนหนึ่งของทีม

  • ข้อดี: พนักงานที่ได้รับการฝึกสอนจะเกิดแรงจูงใจเพราะรู้สึกว่ามีผู้สนับสนุนและเห็นคุณค่า รูปแบบนี้ตระหนักว่าพนักงานแต่ละคนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและสามารถมอบคุณค่าในแบบที่ต่างกันได้

  • ข้อเสีย: แนวทางแบบฝึกสอนต้องใช้ความอดทนและใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล และจะไม่ได้ผลเลยหากสมาชิกทีมขาดเคมีที่เข้ากันหรือความกลมเกลียว

การเป็นผู้นำแบบให้อำนาจเสรี (Laissez-faire)

หรือเรียกอีกอย่างว่า การเป็นผู้นำแบบเสรีนิยม

คำว่า "laissez-faire" เป็นภาษาฝรั่งเศสที่หมายถึง "อนุญาตให้ทำ" หรือก็คือ ปล่อยให้พนักงานตัดสินใจเองว่าจะทำงานอย่างไรและเมื่อใด จากข้อมูลของ Niagara Institute ผู้นำกว่า 84% ปล่อยให้พนักงานเลือกวิธีการทำงานให้เสร็จ Laissez-faire เป็นหนึ่งในรูปแบบการเป็นผู้นำที่มอบอิสระมากที่สุดและให้คำแนะนำน้อยมาก โดยสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับพนักงานทางไกลหรือสตาร์ทอัพที่มีทีมทักษะสูง

  • ข้อดี: เนื่องจากความไว้วางใจและความเป็นอิสระในระดับสูง พนักงานที่ทำงานให้กับผู้นำแบบให้อำนาจเสรีจึงได้ประโยชน์จากอิสระเต็มที่และวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่เข้มงวด

  • ข้อเสีย: รูปแบบนี้จำกัดการพัฒนาของพนักงาน และไม่ใช่ทางเลือกที่ดีสำหรับพนักงานใหม่หรือมีประสบการณ์น้อยที่ต้องการคำแนะนำและการฝึกอบรม บทบาทและความรับผิดชอบอาจไม่ชัดเจน ซึ่งนำไปสู่ทีมที่ไม่เหนียวแน่นได้

การเป็นผู้นำแบบตั้งเป้าหมาย

ผู้นำประเภทนี้จะตั้งเป้าหมายไว้สูงและแจ้งให้พนักงานทราบแน่ชัดถึงสิ่งที่ตนคาดหวังไว้ การเป็นผู้นำประเภทนี้อาจได้ผลดีกับทีมขาย เพราะต้องผลักดันประสิทธิภาพเพื่อให้บรรลุเป้าหมายประจำไตรมาส

  • ข้อดี: สภาพแวดล้อมที่ต้องทำตามเป้าหมายตลอดอาจน่าตื่นเต้นเนื่องจากมีความรู้สึกเร่งด่วนในการบรรลุเป้าหมายให้ได้ ทีมจึงกระตือรือร้นอย่างมากเพื่อให้ได้ผลลัพธ์

  • ข้อเสีย: บางครั้งผู้นำแบบตั้งเป้าหมายอาจสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ตึงเครียดหากตั้งเป้าหมายไว้เกินจริง ซึ่งจะยับยั้งความสร้างสรรค์ ทำให้ทีมงานล้นมือ จนนำไปสู่ภาวะหมดไฟได้

การเป็นผู้นำแบบเน้นร่วมมือ

หรือเรียกอีกอย่างว่า การเป็นผู้นำแบบประชาธิปไตย

แม้ว่าผู้นำประเภทนี้จะยังคงเป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้าย แต่ก็รับฟังพนักงานของตนและให้พนักงานมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ จากข้อมูลของ Niagara Institute การเป็นผู้นำรูปแบบนี้พบได้บ่อยที่สุด โดยจะใช้แนวทางการทำงานร่วมกันที่ทุกคนแบ่งปันความรับผิดชอบและรู้สึกว่าตนได้มีส่วนร่วม

  • ข้อดี: ทีมที่มีผู้นำแบบเน้นร่วมมือจะรู้สึกมีแรงใจและมีคุณค่า ซึ่งสามารถเพิ่มผลิตภาพ และนำไปสู่อัตราการรักษาพนักงานที่สูงได้

  • ข้อเสีย: รูปแบบนี้ไม่ใช่แบบที่ดีที่สุดหากคุณต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็ว เพราะอาจใช้เวลานานกว่าทุกคนจะเห็นพ้องต้องกัน นอกจากนี้ สมาชิกทีมที่อาจไม่มีความเชี่ยวชาญที่เหมาะสมยังอาจรู้สึกลำบากใจในการตัดสินใจเรื่องสำคัญได้

การเป็นผู้นำแบบผู้รับใช้

การเป็นผู้นำรูปแบบนี้ใส่ใจความต้องการของผู้อื่นเป็นอันดับแรก หัวหน้าแบบผู้รับใช้จะปฏิบัติเป็นแบบอย่าง มีค่านิยมหลักอันแรงกล้า และตัดสินใจอย่างมีจริยธรรมเพื่อประโยชน์ของทีม รูปแบบนี้สร้างสภาพแวดล้อมที่เพื่อนร่วมงานสามารถสานสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นและแก้ปัญหาร่วมกันได้

  • ข้อดี: แนวทางนี้สามารถสร้างวัฒนธรรมบริษัทที่ดี เนื่องจากความคิดของทุกคนได้รับการเคารพ และสมาชิกทีมจะได้รับอิสระและการสนับสนุนเพื่อให้บรรลุศักยภาพสูงสุดของตัวเอง

  • ข้อเสีย: ผู้นำที่ใช้แนวทางแบบผู้รับใช้อาจถูกผู้นำที่มีอำนาจมากกว่าครอบงำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขัน และไม่เหมาะสำหรับสถานการณ์ที่คุณต้องตัดสินใจให้รวดเร็วหรือทำตามกำหนดเวลาที่กระชั้นชิด

การเป็นผู้นำด้านบุคคล

การเป็นผู้นำด้านบุคคลเป็นเรื่องของการนำทีมโดยใช้ทักษะด้านบุคคล เช่น ความเห็นอกเห็นใจ ความเปิดกว้าง และการรับฟังมากกว่าการออกคำสั่ง โดยเห็นคุณค่าของการมีส่วนร่วมของพนักงานและให้ความสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ทักษะการเป็นผู้นำด้านบุคคลเป็นสิ่งสำคัญในที่ทำงานแบบไฮบริดสมัยใหม่ ซึ่งส่งเสริมความสมดุลที่ดีระหว่างชีวิตและการทำงาน

  • ข้อดี: การเป็นผู้นำด้านบุคคลจะให้โอกาสพนักงานทำพลาดโดยไม่กล่าวตำหนิ ซึ่งจะสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นและลดความขัดแย้งในที่ทำงานลง

  • ข้อเสีย: การเป็นเพื่อนมากกว่าเจ้านายอาจสร้างความคลุมเครือเมื่อผู้นำต้องตัดสินใจเรื่องที่ยาก ทักษะด้านบุคคลนั้นวัดกันไม่ง่าย จึงยิ่งยากที่จะพิสูจน์ว่าความเป็นผู้นำประเภทนี้ให้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการหรือไม่

การเป็นผู้นำแบบแลกเปลี่ยน

หรือเรียกอีกอย่างว่า การเป็นผู้นำแบบจัดการ

การเป็นผู้นำแบบแลกเปลี่ยนตั้งอยู่บนรากฐานของระบบการให้รางวัลและบทลงโทษ ผู้นำจะออกคำสั่งที่ชัดเจนแก่สมาชิกทีมและคาดหวังให้ทีมทำงานเสร็จทันกำหนด ในทางกลับกัน สมาชิกทีมจะได้รับรางวัลเพื่อชมเชยความพยายาม หรือถูกติเตียนทางวินัยหากทำผลงานต่ำกว่าที่คาดหวัง

  • ข้อดี: การเป็นผู้นำแบบแลกเปลี่ยนจะชี้แจงบทบาทหน้าที่ของทุกคนให้ชัดเจน และมีการปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเท่าเทียมกัน เนื่องจากขึ้นอยู่กับผลงาน ผู้ที่ทะเยอทะยานหรือมีแรงจูงใจจากรางวัลที่เป็นเงินก็มักจะเติบโตด้วย

  • ข้อเสีย: การให้ความสำคัญกับรางวัลเพื่อจูงใจมากเกินไปอาจขัดขวางพนักงานในด้านอื่นๆ เช่น ความคิดสร้างสรรค์ การพัฒนาตนเอง และการทำงานเป็นทีม ผู้นำอาจดูเหมือนไม่ใส่ใจและสร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมายกับพนักงานได้ยาก

การเป็นผู้นำด้านการเปลี่ยนแปลง

การเป็นผู้นำรูปแบบนี้สร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และกระตุ้นการเปลี่ยนแปลง ผู้นำที่ใช้แนวทางนี้ไม่เพียงแต่มุ่งมั่นที่จะช่วยให้องค์กรไปถึงเป้าหมาย แต่ยังสร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานบรรลุศักยภาพสูงสุดของตนอีกด้วย ผู้นำด้านการเปลี่ยนแปลงมักจะมีความฉลาดทางอารมณ์และทักษะในการสร้างแรงจูงใจที่สูง

  • ข้อดี: การเป็นผู้นำประเภทนี้อาจได้ผลยิ่งกับองค์กรที่ต้องการริเริ่มสิ่งใหม่ เพราะการมีรายการเป้าหมายส่วนตัวให้ไปถึงและกำหนดเวลาในการบรรลุเป้าหมายเหล่านั้นจะนำไปสู่ผลิตภาพ การมีส่วนร่วม และขวัญกำลังใจที่สูงขึ้น

  • ข้อเสีย: การโฟกัสกับการพัฒนาตนเองมากเกินไปอาจทำให้ผู้นำด้านการเปลี่ยนแปลงมองข้ามวัตถุประสงค์ของบริษัท ภาวะหมดไฟก็กลายเป็นปัญหาได้เช่นกัน เนื่องจากผู้นำอาจให้อุปสรรคกับพนักงานมากกว่าจะรับมือได้

จะเห็นได้ว่าการเป็นผู้นำมีหลากหลายแนวทาง ซึ่งแต่ละแนวทางมีข้อดีของตัวเอง กล่าวโดยสรุปแล้ว รูปแบบการเป็นผู้นำที่ดีที่สุดคือการเป็นตัวของตัวเอง แต่มีทักษะพิเศษที่เพิ่มเข้ามาด้วยนั่นเอง

อ่านต่อ:
บทความนี้มีประโยชน์หรือไม่
ขอบคุณสำหรับความเห็นของคุณ

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง

เรียนรู้วิธีเป็นผู้นำบริษัทที่เชื่อมต่อถึงกัน

ดาวน์โหลดเลย

โพสต์ล่าสุด

ความเป็นผู้นำ | ใช้เวลาอ่าน 11 นาที

ผู้นำคืออะไรและเหตุใดจึงมีความสำคัญ

ผู้นำคืออะไร ผู้นำเหมือนกับผู้จัดการหรือไม่ คุณสามารถเรียนรู้ที่จะเป็นผู้นำได้หรือไม่ เราจะพาคุณไปสำรวจปัจจัยต่างๆ ที่ส่งเสริมให้เกิดผู้นำและเหตุผลที่การเป็นผู้นำที่ดีนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อธุรกิจ

ความเป็นผู้นำ | ใช้เวลาอ่าน 7 นาที

การเป็นผู้นำที่ส่งเสริมความร่วมมือคืออะไรและจะช่วยให้ทีมของคุณใกล้ชิดกันได้อย่างไร

ผู้นำที่ส่งเสริมความร่วมมือเชื่อมั่นในการรวมทีมที่มีความหลากหลายเข้าด้วยกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายขององค์กร แก้ไขปัญหาต่างๆ รวมไปถึงแบ่งปันข้อมูลระว่างกัน แต่จริงๆ แล้ว การจะเป็นผู้นำที่ส่งเสริมความร่วมมือได้มากขึ้นนั้นต้องทำอย่างไรบ้าง เรามาสำรวจสิ่งนี้ไปด้วยกัน

ความเป็นผู้นำ | ใช้เวลาอ่าน 4 นาที

3 บทเรียนที่ผู้นำได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง

ประสบการณ์ที่ผู้นำพบเจอในชีวิตจริงคือสิ่งที่จะกำหนดตัวตนและแนวทางการเป็นผู้นำของคนเหล่านี้ มาดู 3 ตัวอย่างที่เราคัดมาแล้วว่าดีที่สุดกัน