ภาวะหมดไฟในที่ทำงานคืออะไร และคุณจะหลีกเลี่ยงได้อย่างไร

ภาวะหมดไฟในที่ทำงานไม่ใช่เรื่องใหม่ อันที่จริงเป็นประเด็นที่หลายคนพูดถึงกันอย่างแพร่หลายมากขึ้นด้วยซ้ำ โดยเฉพาะหลังการระบาดใหญ่ทั่วโลกของโควิด-19 ขณะนี้มีพนักงานจำนวนมากที่ใช้เวลาส่วนหนึ่งในการทำงานจากที่บ้าน ดังนั้น บริษัทต่างๆ จึงควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้เกิดสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงาน ตลอดจนหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดภาวะหมดไฟ

วัฒนธรรม | ใช้เวลาอ่าน 7 นาที
Workplace burnout
ภาวะหมดไฟในการทำงานคืออะไร

ภาวะหมดไฟในการทำงานคืออะไร

องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้นิยามของภาวะหมดไฟไว้ว่าเป็นความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ประเภทหนึ่งซึ่งเกิดจากความเครียดเรื้อรังจากที่ทำงาน โดยอาการของภาวะหมดไฟในการทำงานมีอยู่ 3 อาการหลักๆ ดังนี้

  • ไร้เรี่ยวแรงหรืออ่อนเพลีย

  • มีความรู้สึกเกี่ยวกับงานในแง่ลบหรือไม่ภาคภูมิใจในการทำงาน

  • ไร้แรงจูงใจ

แม้ว่าอาการเหล่านี้จะช่วยเราจัดประเภทของภาวะหมดไฟได้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้เราทราบแน่ชัดว่าความรู้สึกของภาวะหมดไฟแท้จริงแล้วเป็นอย่างไร ภาวะหมดไฟอาจมีลักษณะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลเช่นเดียวกับความเครียดในรูปแบบอื่นๆ ที่ถึงแม้จะมีอาการไม่รุนแรง แต่ก็อาจส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพจิตและร่างกายในระยะยาวได้หากไม่ได้รับการรักษา

ปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะหมดไฟในการทำงานบางส่วนมีดังนี้

  • ความเหนื่อยล้า

  • อารมณ์เศร้าหรือความโกรธสะสม

  • การใช้แอลกอฮอล์หรือสารเสพติด

  • โรคหัวใจ

  • ความดันโลหิตสูง

  • เบาหวานประเภทที่ 2

  • ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

รายงานเกี่ยวกับสถานะของสถานที่ทำงานทั่วโลกของ Gallup ประจำปี 2022 เผยว่า 44% ของพนักงานทั่วโลกรายงานว่าในทุกๆ วัน ตนเกิดความเครียด ขณะที่ 40% บอกว่าตนรู้สึกกังวล อีก 23% บอกว่าตนรู้สึกเศร้า ส่วนอีก 21% กล่าวว่าตนรู้สึกฉุนเฉียว

ความเครียดและการไม่มีความสุขในที่ทำงานไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตเท่านั้น แต่ยังอาจส่งผลเสียทางอ้อมต่อพนักงานคนอื่นๆ และบริษัทโดยรวมอีกด้วย และการที่พนักงานไม่มีความสุขและขาดแรงจูงใจก็ยังส่งผลโดยตรงต่อการขาดงาน การลาออกที่สูงขึ้น และอุบัติเหตุในที่ทำงานด้วย ดังนั้น การหาสาเหตุและหาวิธีจัดการกับภาวะหมดไฟในที่ทำงานเพื่อช่วยสนับสนุนให้พนักงานมีความสุขและมีแรงจูงใจนั้นจะสามารถก่อประโยชน์สูงสุดให้กับทั้งพนักงานและองค์กรได้

แก้งานยุ่งได้ไม่ยากด้วย Workplace

ไม่ว่าคุณจะต้องการแจ้งให้ทุกคนทราบเกี่ยวกับการกลับสู่ที่ทำงาน หรือนำวิธีการทำงานแบบผสมผสานไปปรับใช้ Workplace ก็สามารถทำให้การทำงานเป็นเรื่องง่ายขึ้นได้

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหมดไฟ

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหมดไฟ

ความเครียดจากการทำงานเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดที่ก่อให้เกิดความเครียดในสหราชอาณาจักร โดย 79% ของผู้คนมักรู้สึกเครียดจากการทำงาน ในสหรัฐอเมริกาก็เช่นกัน ดังจะเห็นได้จากการที่พนักงาน 40% ยอมรับว่าตนเคยรู้สึกเครียดจากการทำงานในสำนักงาน และ 25% กล่าวว่างานเป็นสาเหตุหลักของความเครียดในชีวิต แต่อะไรคือสาเหตุที่แท้จริงของความเครียดนี้กันแน่

หน่วยงาน Health and Safety Executive (HSE) ของสหราชอาณาจักร ระบุสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของความเครียดจากการทำงาน ซึ่งได้แก่ ภาระงานที่มากหรือน้อยเกินไป, ความรู้สึกว่าตนไม่สามารถควบคุมสิ่งต่างๆ ได้, การจัดลำดับความสำคัญอย่างไม่สมเหตุสมผล และการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญภายในองค์กร อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมการทำงานจากที่บ้านรูปแบบใหม่ได้ก่อให้เกิดปัจจัยที่อาจทำให้รู้สึกหมดไฟมากขึ้น อันได้แก่ ความรู้สึกโดดเดี่ยวและความกังวลในด้านการเงิน และแม้ว่าการทำงานจากทางไกลจะช่วยให้บางคนมีความสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงานมากขึ้น แต่การมีขอบเขตที่ไม่ชัดเจนก็ทำให้หลายคนไม่สามารถเลิกงานได้จริงๆ เมื่อสิ้นสุดวัน

อันที่จริงแล้ว ความเครียดที่เกิดจากการทำงานได้เพิ่มขึ้นถึง 65% ตั้งแต่เริ่มเกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลก และเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้จัดการและผู้นำต้องทำความเข้าใจถึงสาเหตุของภาวะหมดไฟและวิธีหลีกเลี่ยงให้มากกว่าที่เคยเป็นมา

ต่อไปนี้คือสาเหตุของความเครียดในที่ทำงานที่พบบ่อยที่สุดในสหราชอาณาจักรในปี 2021

  • ปริมาณงาน

  • ปัจจัยที่ไม่เกี่ยวข้องกับงาน เช่น ความสัมพันธ์และครอบครัว

  • สไตล์การจัดการ

  • ปัญหาด้านสุขภาพ

  • ความวิตกกังวลอันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด

  • ความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานจากที่บ้าน

  • ความไม่สมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงานเนื่องจากการทำงานจากที่บ้าน

  • ความกดดันที่จะต้องบรรลุเป้าหมายและทันตามกำหนดเวลา

สัญญาณของภาวะหมดไฟในที่ทำงานมีอะไรบ้าง

สัญญาณของภาวะหมดไฟในที่ทำงานมีอะไรบ้าง

เช่นเดียวกับทุกปัญหา คุณจะสามารถรับมือกับภาวะหมดไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดก็ต่อเมื่อรู้ตัวตั้งแต่เนิ่นๆ แม้ว่าความเครียดและความเหนื่อยล้าทางจิตใจของแต่ละคนอาจแสดงออกมาแตกต่างกันไป แต่ก็มีสัญญาณของการเกิดภาวะหมดไฟทั่วๆ ไปที่ผู้จัดการและผู้นำสามารถสังเกตเห็นได้ดังนี้

พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป

การที่พนักงานมีพฤติกรรมในที่ทำงานเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจนอาจบ่งบอกถึงความทุกข์ทั้งจากผลงานหรือสิ่งอื่นนอกที่ทำงาน แต่ไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจากอะไร หากคุณสังเกตเห็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปในที่ทำงาน เช่น การเลิกทุ่มเทกับงานที่ตนรับผิดชอบ ภาวะซึมเศร้า การมีอารมณ์ฉุนเฉียวง่าย หรือการจงใจเลี่ยงงานสำคัญ สิ่งเหล่านั้นจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าพนักงานมีโอกาสที่จะกำลังประสบกับความเครียดในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งอยู่

การขาดสมาธิ

การผัดวันประกันพรุ่ง การใช้เวลามากขึ้นในการทำสิ่งต่างๆ ให้เสร็จ หรือการทำงานได้ไม่ทันตามกำหนดเวลา ล้วนก็เป็นสัญญาณเตือนที่เป็นไปได้ของภาวะหมดไฟ เมื่อจู่ๆ พนักงานที่มักจะกระตือรืนร้นและทุ่มเทกลับกลายเป็นคนที่ขาดแรงจูงใจหรือไม่มีสมาธิ นั่นแสดงว่าพนักงานเหล่านี้มีแนวโน้มสูงที่จะกำลังประสบกับความเหนื่อยล้าทางอารมณ์

ความไม่ภาคภูมิใจและมุมมองในแง่ลบ

การที่พนักงานคนหนึ่งแสดงออกถึงมุมมองในแง่ลบหรือความไม่ภาคภูมิใจในการทำงานทั้งๆ ที่แต่ก่อนไม่เคยเป็น ก็อาจเป็นสัญญาณแรกเริ่มของภาวะหมดไฟในที่ทำงานได้เช่นกัน และแม้ว่าความรู้สึกท้อแท้ต่อบทบาทของตนเองหรือท้อแท้กับตัวบริษัทอาจเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงภายในที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่ก็อาจเป็นสัญญาณของความคับข้องใจที่ส่งผลในระยะยาวได้ เช่นนั้นแล้ว ผู้นำและผู้จัดการเองก็ต้องตอบสนองต่อการแสดงออกในเชิงลบเหล่านี้ด้วยความเห็นอกเห็นใจและมีใจที่เปิดกว้าง โดยต้องพยายามทำความเข้าใจสาเหตุที่แท้จริง ไม่ใช่ตัดสินพนักงานคนดังกล่าว

การปลีกตัวออกจากสังคม

การปลีกตัวจากการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเป็นสัญญาณเบื้องต้นที่แสดงถึงความเครียด พนักงานที่รู้สึกว่าตัวเองเกิดความเหนื่อยล้าทางอารมณ์อาจรู้สึกว่าตนไม่มีสมาธิในการการประชุมตามปกติหรือไม่สามารถเข้าร่วมงานกิจกรรมทางสังคมได้ ทั้งนี้ คุณอาจจะสังเกตเห็นการปลีกตัวออกจากสังคมได้ยากขึ้นสำหรับพนักงานที่ทำงานแบบไฮบริดหรือทำงานจากทางไกล แต่การคอยถามไถ่กันในกรณีที่รู้สึกว่าการสื่อสารดูตึงเครียดหรือดูเป็นเรื่องยากกว่าปกติก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร

การเจ็บป่วยหรือการขาดงาน

การเจ็บป่วยหรือขาดงานซึ่งดูผิดปกติหรือดูไม่ใช่นิสัยของพนักงานคนนั้นอาจเป็นสัญญาณของภาวะหมดไฟได้ ดังนั้นผู้จัดการจึงควรสอบถามพนักงานที่มีการขาดงานที่ดูจะผิดปกติหรือลางานในนาทีสุดท้าย รวมถึงมีการป่วยบ่อยๆ โดยมีลักษณะอาการไม่แน่ชัดด้วยความใส่ใจและไม่ด่วนตัดสิน

วิธีป้องกันไม่ให้เกิดภาวะหมดไฟในที่ทำงาน

วิธีป้องกันไม่ให้เกิดภาวะหมดไฟในที่ทำงาน

แม้ว่าบางครั้ง ความเครียดในที่ทำงานจะเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ แต่ก็มีกระบวนการง่ายๆ บางอย่างที่ผู้จัดการและผู้นำสามารถนำมาใช้เพื่อช่วยขจัดความเครียดในที่ทำงานและป้องกันไม่ให้ความเครียดนี้กลายเป็นภาวะหมดไฟได้

มาดู 5 ขั้นตอนง่ายๆ ที่จะช่วยป้องกันภาวะหมดไฟกัน

1. จัดการปริมาณงาน

HSE เผยว่า ความกดดันจากปริมาณงานเป็นสาเหตุของความเครียดที่เกี่ยวข้องกับงานที่พบได้บ่อยที่สุด แต่เครื่องมือง่ายๆ เช่น ซอฟต์แวร์การติดตามเวลาหรือซอฟต์แวร์การวางแผนแบบอิเล็กทรอนิกส์ก็สามารถเข้ามาเป็นตัวช่วยได้ โดยเครื่องมือเหล่านี้จะทำให้พนักงานมองเห็นปริมาณงานได้ง่ายขึ้น รวมถึงช่วยให้ผู้จัดการกำหนดลำดับความสำคัญสำหรับงานที่ต้องทำให้เสร็จได้อย่างชัดเจน

นอกจากนั้นแล้ว การทราบว่างานที่ซับซ้อนอาจต้องใช้เวลานานกว่าที่วางแผนไว้ในตอนแรกก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน ดังนั้น การสร้างความยืดหยุ่นและการมีช่วงพักจากการทำงานอยู่เป็นระยะจะสามารถช่วยลดแรงกดดันจากกำหนดเวลาที่กระชั้นชิด ทั้งยังมอบพื้นที่ที่ทำให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดด้วย

2. ส่งเสริมความสัมพันธ์กับคนในทีม

พนักงานจะรู้สึกมีความสุขมากขึ้นและสามารถติดต่อเพื่อขอรับการสนับสนุนได้มากขึ้นเมื่อตนมีความสัมพันธ์ในการทำงานที่ดีกับเพื่อนร่วมงานและผู้จัดการ

การจัดเวลาสำหรับการสร้างทีมลงในตารางเวลารายสัปดาห์ของพนักงานและการทำงานร่วมกันก็อาจเป็นวิธีที่ดีในการส่งเสริมวัฒนธรรมการทำงานในเชิงบวก ทั้งยังช่วยสร้างความไว้วางใจและสร้างสภาพแวดล้อมที่ทุกคนจะสามารถสื่อสารและแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วโดยไม่สร้างความเครียดให้กับสมาชิกในทีม

3. พูดคุยกันเป็นประจำ

การให้พนักงานมีการพบปะเพื่อนสมาชิกแบบตัวต่อตัวเป็นประจำจะช่วยให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองได้รับการสนับสนุน ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีปัญหาอะไรมาปรึกษาในทุกๆ ครั้งก็ตาม การพูดคุยกันสัปดาห์ละครั้งหรือสองสัปดาห์ครั้งไม่จำเป็นต้องเป็นการพูดคุยที่ผู้จัดการมาคอยถามความคืบหน้าของงานเสมอไป แต่ควรเป็นพื้นที่ให้พนักงานมาแจ้งข้อกังวล รวมถึงแรงกดดันจากปริมาณงานหรือปัญหาเกี่ยวกับความขัดแย้งในที่ทำงานด้วย

ความสัมพันธ์กับผู้จัดการควรเกิดขึ้นจากการสื่อสารอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการจัดการพนักงานที่ทำงานจากทางไกลหรือพนักงานแบบไฮบริดผู้ซึ่งอาจไม่มีโอกาสกล่าวถึงปัญหาหรือระบายสิ่งที่อยู่ในใจออกมา

4. ให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของพนักงาน

การสนับสนุนให้พนักงานแสดงความคิดเห็นเป็นส่วนสำคัญในการช่วยให้พนักงานรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าในที่ทำงาน แต่ผลประโยชน์ไม่ได้ตกอยู่กับพนักงานแต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น การวิจัยโดย Salesforce แสดงให้เห็นว่าพนักงานที่รู้สึกว่าตนได้รับการรับฟังมีแนวโน้มที่จะรู้สึกกระตือรือร้นที่จะทำงานออกมาให้ดีที่สุดมากขึ้นถึง 4.6 เท่า

นอกจากนี้ การมีความโปร่งใสต่อพนักงานเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจและให้โอกาสพนักงานได้ร่วมตัดสินใจก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน เพราะสิ่งเหล่านี้จะส่งเสริมให้เกิดการแสดงความคิดเห็นที่เปิดเผยและตรงไปตรงมา ซึ่งจะให้ข้อมูลเชิงลึกที่ผู้จัดการและผู้นำต้องการเพื่อนำมาใช้ในการดูแลจัดการวัฒนธรรมเชิงบวกที่เหมาะกับทุกคน

5. ส่งเสริมให้ปรับสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงาน

ในโลกการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ธุรกิจต่างๆ จึงควรหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาวะของพนักงาน โดยใช้แนวทางของการส่งเสริมให้เกิดสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงาน ตลอดจนป้องกันไม่ให้เกิดภาวะหมดไฟ ทั้งนี้ แนวทางเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ตายตัว แต่จะมีความแตกต่างกันไปตามลักษณะของธุรกิจและโครงสร้างทีมของคุณ โดยการพิจารณาว่าทีมทำงานอยู่ในสำนักงาน ทำงานแบบไฮบริด หรือทำงานจากทางไกลเต็มรูปแบบนั้นมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะกำหนดประเภทโครงการส่งเสริมสุขภาวะที่คุณจะสร้างขึ้น

ตัวอย่างของโครงการส่งเสริมสุขภาวะของพนักงานอาจรวมถึงการเสนอชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น การให้ความรู้ทางการเงิน แผนการมอบรางวัลเพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จของพนักงาน การให้สิทธิ์เข้าใช้ฟิตเนสและการจัดกิจกรรมคลายเครียดประจำเดือน เช่น การฝึกโยคะและวันสำหรับการสร้างทีม โครงการเหล่านี้จะช่วยลดความเครียดของพนักงานและสร้างชุมชนในที่ทำงานของคุณขึ้นมาได้

อ่านต่อ

เชื่อมต่อถึงกันอยู่เสมอ

รับข่าวสารและข้อมูลเชิงลึกล่าสุดจากบุคลากรหน้างาน

เมื่อส่งแบบฟอร์มนี้ จะถือว่าคุณยินยอมที่จะรับการติดต่อสื่อสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับการตลาดจาก Facebook ซึ่งประกอบด้วยข่าวสาร กิจกรรม ข้อมูลอัพเดต และอีเมลส่งเสริมการขาย โดยคุณสามารถถอนความยินยอมและเลิกรับอีเมลดังกล่าวได้ทุกเมื่อ นอกจากนี้ คุณยังรับทราบว่าได้อ่านและยอมรับข้อกำหนดด้านความเป็นส่วนตัวบน Workplace แล้ว

บทความนี้มีประโยชน์หรือไม่
ขอบคุณสำหรับความเห็นของคุณ

โพสต์ล่าสุด

วัฒนธรรม | ใช้เวลาอ่าน 11 นาที

วัฒนธรรมในที่ทำงาน: วิธีสร้างวัฒนธรรมเชิงบวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

วัฒนธรรมในที่ทำงานมีความสำคัญยิ่งขึ้นในโลกของการทำงานแบบผสมผสานและการทำงานทางไกล ร่วมหาคำตอบว่าวัฒนธรรมในที่ทำงานคืออะไรและคุณจะสามารถปรับปรุงวัฒนธรรมนี้ได้อย่างไร

ความเป็นผู้นำ | ใช้เวลาอ่าน 4 นาที

10 บทเรียนที่ผู้นำได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง

ประสบการณ์ที่พวกเขาพบเจอในชีวิตจริงจะเป็นตัวกำหนดว่าคนคนหนึ่งจะเติบโตขึ้นมาเป็นอย่างไรและสามารถกำหนดแนวทางของการเป็นผู้นำได้ มาดู 3 ตัวอย่างที่เราคัดมาแล้วว่าดีที่สุดกัน

วัฒนธรรม | ใช้เวลาอ่าน 8 นาที

วัฒนธรรมองค์กร 4 ประเภท: แบบใดดีที่สุดสำหรับธุรกิจ

ตัวตนของธุรกิจเป็นการผสมผสานที่ไม่เหมือนใครของวัฒนธรรมต่างๆ ขององค์กร ดูว่าคุณจะค้นหาตัวตนของธุรกิจและใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของตัวตนนั้นได้อย่างไร