9 เทรนด์ในที่ทำงานสำหรับปี 2023

เทรนด์การทำงานแห่งอนาคตจะเกิดขึ้นในปี 2023 มาดูกันว่าสิ่งต่างๆ จะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้อย่างไรในระหว่างช่วงปีนี้

อนาคตของการทำงาน | ใช้เวลาอ่าน 6 นาที
Future of work trends 2023
เทรนด์เกิดใหม่ในที่ทำงานมีอะไรบ้าง

เทรนด์เกิดใหม่ในที่ทำงานมีอะไรบ้าง

ที่ทำงานกำลังเข้าสู่สภาวะความปกติรูปแบบใหม่หลังโควิด เทคโนโลยียังคงผลักดันวัฒนธรรมการทำงานจากทุกที่ให้ได้รับความนิยมมากขึ้น และแนวทางปฏิบัติที่เน้นผู้คนเป็นศูนย์กลางก็ยังมีบทบาทสำคัญต่อไป พร้อมกันนั้น บริษัทก็ยังคงต้องดิ้นรนกับการพยายามรักษาพนักงานผู้ทรงคุณค่าเอาไว้ให้ได้ในขณะที่การพัฒนาไปสู่เมตาเวิร์สกำลังรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ล้วนอยู่เบื้องหลังของเทรนด์สำคัญที่จะเข้ามามีอิทธิพลในปี 2023 ทั้งสิ้น

1. VR สำหรับการทำงาน

Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR) ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง VR ที่จะเข้ามามีความสำคัญโดดเด่นยิ่งขึ้นในปี 2023

ทุกคนคงเล็งเห็นถึงเหตุผลที่ VR จะเข้ามาเป็นดาวเด่นนั้นกันได้ชัดเจนอยู่แล้ว เราขอพูดถึงการฝึกอบรมเป็นตัวอย่าง โดยบริษัท 34% กล่าวว่า VR และเมตาเวิร์สเป็นวิธีฝึกอบรมและพัฒนาพนักงานที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่ง VR ช่วยให้พนักงานเรียนรู้ได้เร็วขึ้นถึง 4 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับการฝึกอบรมด้วยตนเอง และพนักงานที่ได้รับการฝึกอบรมผ่าน VR มีความมั่นใจในการปฏิบัติตามสิ่งที่ตนได้เรียนรู้มามากขึ้นถึง 275%

นอกจากนี้ เหตุผลที่ VR ยังคงความนิยมเอาไว้ได้ก็เป็นผลมาจากการทำงานแบบไฮบริดที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องด้วย การทำงานจากทางไกลทำให้การทำงานร่วมกันแบบต่อหน้านั้นมีขอบเขตที่จำกัด ซึ่งอาจส่งผลให้พนักงานเกิดความเหนื่อยล้าจากวิดีโอคอล รวมถึงไม่ได้รับรู้ถึงภาษากายและอวัจนภาษาอื่นๆ ของเพื่อนร่วมงาน

อย่างไรก็ตาม แอพพลิเคชั่นมากมายอย่างเช่น Workrooms ก็ได้เข้ามาช่วยทำให้การประชุมมีความสมจริงมากขึ้น โดยให้ความรู้สึกเหมือนกับว่าทุกคนได้เข้ามาอยู่ในห้องเดียวกัน ซึ่งเป็นการเปิดประตูสู่วิธีการทำงานร่วมกันรูปแบบใหม่และได้พลิกโฉมวิธีการทำงานร่วมกันในทีมไปด้วย

Workplace trends 2023

2. คน Gen Z ก้าวเข้าสู่วัยทำงาน

คน Gen Z จำนวนมากกำลังก้าวพ้นจากสังคมการเรียนเข้าสู่วัยทำงาน และพวกเขาเหล่านี้ก็ได้นำเสนอให้เห็นมุมมองใหม่ของการทำงานร่วมกับตน คน Gen Z มีแนวโน้มที่จะทำงานในที่ที่ตนไม่พึงพอใจน้อยมาก ซึ่งสาเหตุอาจเกิดมาจากการมีค่านิยมที่ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ตนต้องการ เงินเดือนไม่เพียงพอ หรือการถูกมองข้าม ในขณะที่ Quiet Quitting (การเลิกทำงานเกินหน้าที่) เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นในปี 2022 แต่คน Gen Z ได้ยกระดับพฤติกรรม Quiet Quitting นี้ขึ้นไปอีกขั้นโดยแสดงออกมาทางพฤติกรรม 'Rage Applying' ซึ่งเป็นการระบายความโกรธต่องานหรือเจ้านายออกมาในรูปแบบการไปสมัครงานกับที่อื่นๆ จำนวนมากโดยหวังว่าจะมีบริษัทที่ให้ข้อเสนอที่ดีกว่า

การทำงานแบบไฮบริด การส่งเสริมด้านสุขภาพจิต ตลอดจนความหลากหลายล้วนเป็นสิ่งที่คน Gen Z ให้ความสำคัญเมื่อต้องเลือกที่ทำงาน 46% ของ Gen Z กล่าวว่าตนรู้สึกเครียดหรือวิตกกังวลเป็นส่วนใหญ่ โดยอ้างว่าสาเหตุหลักมาจากภาระงาน และ 63% ของคน Gen Z รู้สึกว่าการทำงานแบบไฮบริดและการได้รับการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตในที่ทำงานช่วยเพิ่มผลิตภาพและสุขภาวะทางจิตได้อย่างมาก

3. การทำงานแบบไฮบริด

แม้ว่าเทรนด์นี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เราคาดว่าเทรนด์การทำงานจากทางไกลจะพัฒนาต่อไปในปี 2023 แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากการระบาดใหญ่ทั่วโลกได้นำมาสู่การทำงานจากทางไกลเต็มรูปแบบอย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ตาม แนวโน้มในปัจจุบันได้เน้นไปที่รูปแบบไฮบริดที่พนักงานจะแบ่งวันในแต่ละสัปดาห์เพื่อเข้าทำงานในที่ทำงานและทำงานจากทางไกลผสมผสานกันไปมากขึ้นเรื่อยๆ เราคาดว่าการทำงานในรูปแบบนี้จะยังคงดำเนินต่อไปในปี 2023 เนื่องจากบริษัทต่างๆ ต้องการให้พนักงานกลับมาทำงานในสำนักงานบ้างเป็นครั้งคราว อันจะเห็นได้จากจำนวนโฆษณาสำหรับการทำงานจากทางไกลแบบเต็มเวลาค่อยๆ ลดน้อยลง

4. การผลักดันให้เกิดความยั่งยืน

เนื่องจากวิกฤตสภาพอากาศมีแต่จะเลวร้ายลง ธุรกิจต่างๆ จึงหันมาให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ในปี 2022 เราพบว่า 79% ของผู้บริหารในบริษัทได้เห็นถึงจุดพลิกผันของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศของโลก และรู้สึกว่าได้รับแรงกดดันจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้บริษัทเน้นความยั่งยืนมากขึ้น

นอกจากนี้ 60% ของผู้บริโภคทั่วโลกยังคำนึงถึงความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์และแบรนด์เมื่อต้องพิจารณาซื้ออีกด้วย โดยผู้คนประมาณหนึ่งในสามมีแนวโน้มที่จะเลือกแบรนด์ที่มีความยั่งยืนมากกว่าแม้ว่าตนจะไม่เคยใช้แบรนด์นั้นมาก่อนก็ตาม และนี่เองเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้ธุรกิจจำนวนมากหันมา 'ใส่ใจสิ่งแวดล้อม' มากขึ้นเรื่อยๆ

ในส่วนพนักงานเองก็กำลังผลักดันให้เกิดความยั่งยืนเช่นกัน ในปี 2020 ผู้คน 83% คิดว่าที่ทำงานของตนยังทุ่มเทความพยายามในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศไม่เพียงพอ อีกทั้งยังมีหลักฐานทางกายภาพจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่บ่งชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมีผลกระทบต่อโลก ด้วยเหตุนี้เอง พนักงานจึงเริ่มเรียกร้องให้เกิดความยั่งยืนจากภายในองค์กรโดยที่ไม่ต้องรอให้ฝ่ายผู้บริหารสั่งการลงมา

การผลักดันให้เกิดความยั่งยืนมีอิทธิพลต่อความต้องการในการทำงานจากทางไกลที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจาก 37% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกในปี 2021 มาจากการขนส่ง โดยยานพาหนะที่ใช้บนถนนเป็นสัดส่วนที่มากที่สุด และในขณะนี้พนักงานกำลังผลักดันให้ทำงานจากที่บ้านต่อไปเพื่อช่วยต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยบุคคลเหล่านี้คำนึงถึงทั้งมุมมองส่วนตัวและมุมมองด้านอาชีพ

ธุรกิจต่างๆ มีแนวโน้มที่จะขอการรับรอง B Corp กันมากขึ้น การหลอกลวงว่าบริษัทมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ล้าหลังไปแล้ว เพราะปัจจุบัน ที่ทำงานหลายที่ต่างร่วมกันลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศกันอย่างแข็งขัน

5. สุขภาวะและการคิดบวก

สุขภาวะในที่ทำงานจะกลายเป็นหนึ่งในอาวุธหลักที่นายจ้างจะนำมาใช้ในสงครามการแข่งขันเพื่อแย่งชิงบุคลากรที่มีความสามารถที่มีแต่จะทวีความดุเดือดขึ้น พนักงานมองว่าความสุขและสุขภาวะนั้นเป็นสิ่งที่มีค่ามาก อย่างไรก็ตาม การสำรวจโดย Indeed พบว่ามีพนักงานเพียง 49% เท่านั้นที่บอกว่านายจ้างของตนมีการวัดผลในด้านความสุขและสุขภาวะ

การศึกษายังแสดงให้เห็นอีกด้วยว่ายิ่งพนักงานมีความพึงพอใจในการทำงานมากเท่าใด โอกาสที่พวกเขาจะมองหางานอื่นก็จะยิ่งน้อยลงเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น โครงการริเริ่มด้านสุขภาวะยังสามารถบรรเทาผลกระทบจากภาวะหมดไฟได้อีกด้วย ด้วยเหตุนี้ บริษัทต่างๆ จึงมีแนวโน้มว่าจะให้ความสำคัญกับโครงการริเริ่มด้านสุขภาวะและสิทธิประโยชน์ของพนักงานในปีต่อๆ ไป

มาพูดคุยเกี่ยวกับอนาคตแห่งการทำงานกัน

เรากำลังพยายามค้นหาคำตอบของคำถามที่สำคัญที่สุดที่เราทุกคนต่างสงสัยเกี่ยวกับการทำงานในเมตาเวิร์ส มาดูกัน

6. การทำงานสัปดาห์ละ 4 วัน

การทดลองทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ที่ผ่านๆ มานั้นประสบผลสำเร็จอย่างมาก ในการศึกษาเรื่อง 4 Day Week Global เผยว่า 67% ของบริษัทที่เข้าร่วมกล่าวว่าตนจะใช้ระบบนี้ต่อไปอย่างแน่นอน และจะไม่กลับไปใช้การทำงาน 5 วันแบบเดิม ผลที่ออกมาแสดงให้เห็นว่าประสิทธิภาพการทำงานนั้นเพิ่มขึ้นหรือคงที่ในระหว่างการทดลอง และความพึงพอใจตลอดจนสุขภาพของพนักงานก็ดีขึ้นด้วย แม้จะเกิดความกังวลอยู่บ้างว่าผลลัพธ์จะเป็นไปในทางกลับกันก็ตาม นอกจากนี้ จากการศึกษาของ Henley Business School ยังเผยว่าธุรกิจที่ทดลองและนำรูปแบบการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ไปใช้พบว่าสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายจากการลาออกของพนักงานไปได้ประมาณ 104 พันล้านปอนด์ หรือ 2.2% เลยทีเดียว

เช่นนั้นแล้ว บริษัทต่างๆ จะหันมาทำงานในเวลาต่อสัปดาห์ที่น้อยลงในปี 2023 มากขึ้นหรือไม่ การสำรวจหนึ่งเผยว่า 79% ของผู้สรรหาบุคลากรคิดว่าการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์โดยไม่หักค่าจ้างจะเกิดขึ้นจริงภายในปี 2030 ดังนั้นก็มีแนวโน้มที่ความคิดริเริ่มนี้จะยังคงดำเนินต่อไปในอนาคต

7. การจ้างงานตามทักษะ

แต่เดิมแล้ว การศึกษาเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีอิทธิพลมากที่สุดในการตัดสินใจเมื่อต้องเลือกจ้างงานใครสักคน คุณสมบัติของผู้สมัครและมหาวิทยาลัยที่เรียนมาถือเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญที่สุดว่าคนคนหนึ่งจะทำงานได้ดีเพียงใด ทว่าในปัจจุบัน ที่ทำงานหลายแห่งต่างก็ให้ความสำคัญกับแนวทางนี้น้อยลงเรื่อยๆ

ตอนนี้นายจ้างสามในสี่ใช้การจ้างงานตามทักษะเพื่อค้นหาผู้มีความสามารถเสียมากกว่า การจ้างงานตามทักษะเป็นการใช้ชุดการทดสอบที่อิงตามบทบาทเพื่อพิจารณาความสามารถในการทำงานของผู้สมัคร รวมถึงประโยชน์ในแง่อื่นที่ผู้สมัครอาจมอบให้กับทีมได้

ยิ่งไปกว่านั้น พนักงานยังจะได้สร้างเสริมทักษะของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระหว่างและหลังการระบาดใหญ่ทั่วโลก ซึ่งผู้คนใช้เวลาในการพัฒนาทักษะใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงาน ทั้งเพื่อความสนุกสนานหรือเพื่อช่วยในการหางาน รวมถึงนายจ้างยังพบด้วยว่าพนักงานที่จ้างตามทักษะนั้นมีความสุขและมีผลิตภาพในการทำงานมากกว่าพนักงานที่จ้างด้วยวิธีอื่น

8. การผลักดันให้เกิดความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการเปิดกว้าง

ความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการเปิดกว้าง (DE&I) เช่น เพศ เพศสภาพ ความทุพพลภาพ และความหลากหลายทางระบบประสาทนั้นได้รับการยอมรับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในที่ทำงาน ซึ่งนอกจากจะเป็นเรื่องของความยุติธรรมทางสังคมแล้ว ความหลากหลายยังมีข้อดีมากมาย อาทิ การส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และการริเริ่มสิ่งใหม่ๆ เนื่องจากการมีมุมมองที่หลากหลาย กลุ่มคนที่มาจากภูมิหลังที่ต่างกันมักจะคิดสร้างสรรค์ในสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์และเป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่ากลุ่มคนที่มาจากภูมิหลังเดียวกัน

นอกจากนั้นแล้ว พนักงานเองก็ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มากขึ้นเช่นกัน โดย 81% กล่าวว่าตนจะพิจารณาออกจากงานหากรู้สึกว่าที่ทำงานไม่สนับสนุนประเด็น DE&I มากเพียงพอ

9. การเลื่อนตำแหน่งภายในองค์กรและการเพิ่มพูนทักษะ

เมื่อพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายในการสรรหาบุคลากรและจุดเปลี่ยนที่เกิดจาก การลาออกครั้งใหญ่ในปี 2022 จึงไม่น่าแปลกใจที่ในปี 2023 ธุรกิจหลายรายต่างก็หันมาให้ความสำคัญกับการรักษาบุคลากรไว้กับองค์กร และส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ดังกล่าวคือการมุ่งเน้นที่การใช้ทรัพยากรมนุษย์ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยการเพิ่มพูนทักษะและการเลื่อนตำแหน่งภายในองค์กร หรือที่ Gartner เรียกว่า 'Quiet Hiring'

วิธีการนี้มีประโยชน์อย่างยิ่งในการรักษาบุคลากรให้ทำงานต่อกับองค์กร พนักงานได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนเสมอมาว่าโอกาสในการเรียนรู้เป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจว่าจะตอบรับงานหรือรับการเลื่อนตำแหน่งหรือไม่ และการเลื่อนตำแหน่งบุคลากรจากภายในบริษัทแทนที่จะจ้างพนักงานใหม่ก็นับเป็นการส่งสัญญาณให้พนักงานเห็นว่ามีโอกาสนั้น

การเพิ่มพูนทักษะหรือการเสริมสร้างทักษะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน โดยการที่จะรักษาบุคลากรให้ทำงานต่อได้นั้น ที่ทำงานในปัจจุบันจะต้องเสริมสร้างทักษะให้แก่พนักงานเพื่อให้สามารถทำงานในส่วนที่ตนถนัดมากที่สุดได้ รวมถึงอาจเป็นวิธีที่ช่วยประหยัดต้นทุนได้มากกว่าการว่าจ้างงานจากภายนอก ด้วยเหตุนี้เอง เราจึงคาดว่าจะได้เห็นเทรนด์นี้มากขึ้นในปี 2023

อ่านต่อ:

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง

เรียนรู้เกี่ยวกับออฟฟิศไร้พรมแดนไปพร้อมกัน

เชื่อมต่อถึงกันอยู่เสมอ

รับข่าวสารและข้อมูลเชิงลึกล่าสุดจากบุคลากรหน้างาน

เมื่อส่งแบบฟอร์มนี้ จะถือว่าคุณยินยอมที่จะรับการติดต่อสื่อสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับการตลาดจาก Facebook ซึ่งประกอบด้วยข่าวสาร กิจกรรม ข้อมูลอัพเดต และอีเมลส่งเสริมการขาย โดยคุณสามารถถอนความยินยอมและเลิกรับอีเมลดังกล่าวได้ทุกเมื่อ นอกจากนี้ คุณยังรับทราบว่าได้อ่านและยอมรับข้อกำหนดด้านความเป็นส่วนตัวบน Workplace แล้ว

บทความนี้มีประโยชน์หรือไม่
ขอบคุณสำหรับความเห็นของคุณ

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง

เรียนรู้เกี่ยวกับออฟฟิศไร้พรมแดนไปพร้อมกัน


โพสต์ล่าสุด

อนาคตแห่งการทำงาน | ใช้เวลาอ่าน 11 นาที

อนาคตของการทำงาน

การทำงานในเมตาเวิร์สเป็นอย่างไร การทำงานแบบไฮบริดจะยังคงอยู่ต่อไปหรือไม่ แม้คุณจะไม่สามารถคาดเดาอนาคตที่รออยู่ข้างหน้าได้ 100% แต่อย่างน้อยคุณก็สามารถเตรียมองค์กรของคุณให้พร้อมสำหรับอนาคตได้

ความเป็นผู้นำ | ใช้เวลาอ่าน 4 นาที

10 บทเรียนที่ผู้นำได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง

ประสบการณ์ที่ผู้คนพบเจอในชีวิตจริงสามารถกำหนดตัวตนและแนวทางการเป็นผู้นำของคนเหล่านั้นได้ ดังตัวอย่างทั้ง 10 เรื่องต่อไปนี้

อนาคตแห่งการทำงาน | ใช้เวลาอ่าน 6 นาที

เราจะทำงานอย่างไรในเมตาเวิร์ส

ตั้งแต่การทำงานร่วมกันในทีมไปจนถึงวัฒนธรรมของบริษัท นี่คือ 5 วิธีที่เมตาเวิร์สและ Virtual Reality จะเปลี่ยนอนาคตในการทำงานและการทำธุรกิจ