วิธีพัฒนาความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์

การรักษาสายสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์เป็นสิ่งสำคัญในอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ คำถามคือ คุณจะสร้างสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและพัฒนาความร่วมมือกับซัพพลายเออร์ให้ดียิ่งขึ้นได้อย่างไร อ่านสุดยอดเคล็ดลับของเราได้ที่นี่

ผลิตภาพ | ใช้เวลาอ่าน 6 นาที
improving supplier relationships - Workplace from Meta
ประเภทของความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์

ประเภทของความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์

เกือบทุกองค์กรมีซัพพลายเออร์ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นผู้ค้าส่ง ผู้ค้าปลีก ผู้จัดจำหน่าย หรือผู้รับเหมารายย่อย

ความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์สามารถเป็นได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่แบบข้อตกลงเดียวไปจนถึงการเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ในระยะยาว โดยที่ซัพพลายเออร์เป็นส่วนสำคัญในการทำงานของบริษัท แม้ว่าการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับซัพพลายเออร์ทุกรายจะสำคัญ แต่ความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์แต่ละประเภทก็ไม่เหมือนกัน และต้องมีความร่วมมือและการเอาใจใส่ในระดับที่ต่างกัน

ประเภทของความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์มีดังนี้

  • คู่สัญญาอิสระ (Arms-Length)

    ความสัมพันธ์เหล่านี้มีพื้นฐานมาจากธุรกรรมเพียงอย่างเดียว ซัพพลายเออร์แบบคู่สัญญาอิสระมีหน้าที่เพียงแค่จัดหาสินค้าหรือบริการให้ตามความต้องการโดยอิงจากมูลค่าตลาด ซัพพลายเออร์และผู้ซื้อจะเป็นอิสระต่อกันอย่างสมบูรณ์และไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ นอกเหนือจากในข้อตกลง โดยผู้ซื้ออาจซื้อสินค้าเพิ่มเติมจากซัพพลายเออร์หรือไม่ก็ได้

  • ความสัมพันธ์ต่อเนื่อง

    ความสัมพันธ์ต่อเนื่องคือความสัมพันธ์ที่ผู้ซื้อมีกับซัพพลายเออร์เฉพาะราย ซัพพลายเออร์เหล่านี้จะทำสัญญาในระยะยาวปานกลาง และจะต้องได้รับการเอาใจใส่มากกว่าซัพพลายเออร์แบบคู่สัญญาอิสระ

  • การเป็นพันธมิตร

    ผู้ซื้อจะทำสัญญาระยะยาวกับซัพพลายเออร์หุ้นส่วนและจะต้องสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งกว่ากับซัพพลายเออร์เหล่านั้น

  • พันธมิตรเชิงกลยุทธ์

    สำหรับรูปแบบพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ ผู้ซื้อและซัพพลายเออร์จะทำงานร่วมกันเพื่ออาศัยจุดแข็งของกันและกัน พาร์ทเนอร์แบบพันธมิตรเชิงกลยุทธ์อาจร่วมมือกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทำการตลาด ตลอดจนการวิจัยและพัฒนา รูปแบบความสัมพันธ์นี้สำคัญอย่างยิ่งและต้องมีการทำงานร่วมกันในระดับสูง

  • การจัดการแบบ Just-In-Time

    ความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์ประเภทนี้พบทั่วไปในการผลิต ซึ่งต่างจากความสัมพันธ์แบบคู่สัญญาอิสระตรงที่ซัพพลายเออร์จะต้องเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินงานของบริษัท ไปจนถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซัพพลายเออร์ที่ใช้ระบบ Just-In-Time จะจัดหาวัสดุให้สอดคล้องกับกระบวนการผลิตของผู้ซื้อ วิธีนี้ช่วยรับรองว่าผู้ซื้อจะใช้จ่ายกับสิ่งที่ต้องการในยามจำเป็นเท่านั้น และไม่ติดปัญหาวัสดุเหลือค้างมากเกินไป

  • การจัดจ้างภายนอก

    ธุรกิจจำนวนมากจ้างบุคคลภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการใช้ฟรีแลนซ์ การจ้างผู้รับเหมารายย่อยเพื่อดำเนินธุรกิจบางส่วน หรือการ Offshoring ซึ่งธุรกิจย้ายงานส่วนหนึ่งไปยังบริษัทพาร์ทเนอร์ในต่างประเทศ ความสัมพันธ์ทางธุรกิจดังกล่าวมีความสำคัญ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาความสัมพันธ์เหล่านี้ไว้

การรักษาความสัมพันธ์อันดีกับซัพพลายเออร์สำคัญอย่างไร

การรักษาความสัมพันธ์อันดีกับซัพพลายเออร์สำคัญอย่างไร

ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในการทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์นั้นสำคัญอย่างยิ่งต่อผลิตภาพ ประสิทธิภาพ และผลกำไร แบบสำรวจโดย McKinsey ซึ่งศึกษาองค์กรขนาดใหญ่ในหลายภาคธุรกิจแสดงให้เห็นว่าบริษัทที่ร่วมมือกับซัพพลายเออร์เป็นประจำจะทำกำไรได้มากกว่า ทั้งยังมีการเติบโตสูงกว่าและมีต้นทุนการดำเนินงานต่ำกว่าบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน

ตรงกันข้าม ความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับซัพพลายเออร์อาจทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น สินค้าและบริการมีคุณภาพต่ำลง และแม้กระทั่งเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง

ดังนั้น การสร้างความสัมพันธ์ ตลอดจนรักษาความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์ให้มั่นคงจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะสุดท้ายแล้ว การค้นหาซัพพลายเออร์รายใหม่ต้องใช้ทั้งเวลา ความพยายาม และค่าใช้จ่ายมากกว่าการสานสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์รายเดิมให้ประสบความสำเร็จ

การมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับซัพพลายเออร์สามารถช่วยเหลือธุรกิจในด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้

การบริการ

ซัพพลายเออร์ที่มีความสุขมีแนวโน้มที่จะทุ่มเทเป็นพิเศษในการจัดหาสินค้าและบริการที่จำเป็นให้กับธุรกิจของคุณ

ประสิทธิภาพ

เมื่อผู้ซื้อและซัพพลายเออร์ใช้เวลาทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน การสื่อสารระหว่างธุรกิจจะง่ายขึ้นและกระบวนการต่างๆ จะดำเนินได้อย่างราบรื่นมากขึ้น ซึ่งช่วยประหยัดเวลาและทรัพยากรได้

ประหยัดต้นทุน

การจัดการความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์ที่มีประสิทธิภาพจะช่วยให้คุณสามารถระบุและตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปได้ และคุณอาจจะเจรจาเพื่อขอส่วนลดหรือค่าบริการที่ถูกกว่ากับซัพพลายเออร์ของคุณได้อีกด้วย

ลดการหยุดชะงัก

ผลกระทบหลังเกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลก ต้นทุนที่สูงขึ้น สงครามในยูเครน และสภาพอากาศสุดขั้ว ล้วนมีส่วนทำให้ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก การมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับซัพพลายเออร์จะช่วยให้คุณระบุความเสี่ยงได้ตั้งแต่เนิ่นๆ และดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงเหล่านั้น

จากข้อมูลของ Plante Moran ซึ่งสำรวจบริษัทต่างๆ ในอุตสาหกรรมยานยนต์พบว่า ผู้ผลิตที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับซัพพลายเออร์จะสามารถปรับตารางการผลิตให้เหมาะสมเพื่อสร้างผลกำไรในช่วงที่ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงักได้

การปรับปรุงโดยรวม

เมื่อซัพพลายเออร์และผู้ซื้อมีความสัมพันธ์ที่ดี ทั้งสองฝ่ายจะสามารถแบ่งปันประสบการณ์และแลกเปลี่ยนความคิด ปรับปรุงการบริการ และทำให้ห่วงโซ่อุปทานดำเนินไปอย่างราบรื่นได้มากขึ้น

แก้งานยุ่งได้ไม่ยากด้วย Workplace

ไม่ว่าคุณจะต้องการแจ้งให้ทุกคนทราบเกี่ยวกับการกลับสู่ที่ทำงาน หรือนำวิธีการทำงานแบบผสมผสานไปปรับใช้ Workplace ก็สามารถทำให้การทำงานเป็นเรื่องง่ายขึ้นได้

การจัดการความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์: สุดยอดเคล็ดลับ 10 ข้อ

การจัดการความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์: สุดยอดเคล็ดลับ 10 ข้อ

การจัดการความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์ให้ประสบความสำเร็จต้องอาศัยทั้งการสื่อสารที่ดี การเอาใจใส่ และความไว้วางใจ ต่อไปนี้คือเคล็ดลับที่จะทำให้ความสัมพันธ์ของคุณกับซัพพลายเออร์แน่นแฟ้นขึ้น

  1. ตั้งกฎพื้นฐาน

    สัญญาระหว่างคุณกับซัพพลายเออร์เป็นรากฐานความสัมพันธ์ของคุณ ความร่วมมือทางธุรกิจของคุณจึงต้องมีความโปร่งใส คุณควรระบุให้ชัดเจนว่าต้องการให้ซัพพลายเออร์ส่งมอบสิ่งใดและเมื่อใด รวมทั้งต้องแน่ใจว่าอีกฝ่ายเข้าใจและสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดได้

  2. กำหนด KPI

    ซัพพลายเออร์จะต้องเข้าใจสิ่งที่คุณต้องการบรรลุตั้งแต่เริ่มแรก ให้ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนสำหรับซัพพลายเออร์ของคุณ และวัดผลการปฏิบัติงานเทียบกับเป้าหมายเหล่านั้นอย่างต่อเนื่อง โดยคุณต้องแบ่งปันผลการประเมินให้กับซัพพลายเออร์เพื่อช่วยให้อีกฝ่ายได้ใส่ใจกับสิ่งที่ควรปรับปรุง

  3. สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ

    การที่ทั้งสองฝ่ายสามารถพูดคุย วางแผน และแบ่งปันข้อมูลระหว่างกันได้คือกุญแจที่จะนำไปสู่ความสัมพันธ์อันงอกงามกับซัพพลายเออร์ เครื่องมือที่เหมาะสมจะช่วยให้คุณสามารถสื่อสารกับซัพพลายเออร์ของคุณได้อย่างชัดเจนและสม่ำเสมอ

  4. ให้คำติชม

    บอกให้ซัพพลายเออร์ของคุณรับรู้เมื่อทำงานได้ดี และพูดถึงปัญหาต่างๆ ในทันที คุณอาจคิดว่าซัพพลายเออร์เริ่มมีข้อผิดพลาด แต่รู้สึกลังเลที่จะพูดออกไปด้วยเกรงว่าจะกระทบความสัมพันธ์ ซึ่งไม่ถูกต้อง การจัดการกับปัญหาทันทีจะช่วยให้คุณทั้งสองฝ่ายมั่นใจว่าสามารถตัดไฟแต่ต้นลมได้

  5. ชำระเงินตรงเวลา

    กระแสเงินสดและการชำระเงินล่าช้าอาจเป็นโจทย์หินสำหรับซัพพลายเออร์ โดยเฉพาะกับธุรกิจขนาดเล็ก การวิจัยของสมาพันธ์ธุรกิจขนาดเล็กแห่งสหราชอาณาจักรพบว่า 52% ของธุรกิจขนาดเล็กประสบปัญหาการชำระเงินล่าช้าในปี 2022 ดังนั้น การที่บริษัทของคุณจ่ายเงินตรงเวลาเสมอจะช่วยให้คุณได้รับความไว้วางใจจากซัพพลายเออร์ และทำให้อีกฝ่ายพร้อมทุ่มสุดตัวจนถึงอาจเสนอส่วนลดให้คุณด้วยซ้ำ

  6. ประพฤติตนอย่างเป็นธรรม

    ความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์เป็นความร่วมมือทั้งสองฝ่าย คุณจึงต้องปฏิบัติตามข้อตกลงที่คุณระบุ ให้ข้อมูลที่จำเป็นต่อซัพพลายเออร์ในการส่งมอบงาน ปฏิบัติตามเงื่อนไขการชำระเงินที่ตกลงไว้เสมอ และตั้งความคาดหวังต่อซัพพลายเออร์อย่างสมเหตุสมผล

  7. อย่ามุ่งแค่การทำธุรกรรม

    การปฏิบัติต่อซัพพลายเออร์ระยะยาวของคุณในฐานะหุ้นส่วน และการแสดงความชื่นชมต่อผลการปฏิบัติงานที่ดีจะช่วยปรับปรุงการสื่อสารและสานความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นขึ้น

  8. เรียนรู้วิธีการทำงานของซัพพลายเออร์

    ใช้เวลาทำความรู้จักธุรกิจ ตลอดจนวิธีการทำงานของซัพพลายเออร์ วิธีนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจมุมมองของอีกฝ่าย สามารถสร้างสายสัมพันธ์ รวมถึงได้รับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับกระบวนการและความสามารถของซัพพลายเออร์ ทั้งยังช่วยให้คุณตระหนักถึงจุดต่างและวิธีการรับมือเพื่อให้ความสัมพันธ์ดำเนินไปได้ด้วยดีเช่นกัน

  9. ใช้ซอฟต์แวร์ที่เหมาะสม

    ซอฟต์แวร์การจัดการความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์สามารถช่วยคุณพัฒนากลยุทธ์ซัพพลายเออร์และประเมินประสิทธิภาพของซัพพลายเออร์ได้ โดยเครื่องมือการทำงานร่วมกันที่เหมาะสมจะช่วยให้คุณสื่อสารได้อย่างราบรื่นและแบ่งปันข้อมูลกับซัพพลายเออร์ของคุณได้

  10. ทำงานร่วมกันให้สนุก

    เมื่อคุณปรับตัวให้เข้ากับซัพพลายเออร์และมองว่าความสัมพันธ์นี้เป็นความร่วมมือทางธุรกิจ ทั้งสองฝ่ายก็มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จมากกว่าเดิม การกระชับความสัมพันธ์ทำให้ผลิตภาพและความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมสูงขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

หัวข้อที่คุณอาจสนใจ

หัวข้อที่คุณอาจสนใจ

บทความนี้มีประโยชน์หรือไม่
ขอบคุณสำหรับความเห็นของคุณ

โพสต์ล่าสุด

ผลิตภาพ | ใช้เวลาอ่าน 11 นาที

ผลิตภาพคืออะไรและเหตุใดจึงมีความสำคัญ

ผลิตภาพเป็นประเด็นยอดนิยมมาตั้งแต่ก่อนที่ทั้งโลกจะล็อกดาวน์ และได้กลายเป็นกุญแจสำคัญสำหรับธุรกิจไปแล้ว ค้นพบความสำคัญของผลิตภาพ วิธีวัดผล และวิธีเพิ่มผลิตภาพในยุคหลังการแพร่ระบาดของโควิด

ผลิตภาพ | ใช้เวลาอ่าน 11 นาที

เทคนิคการจัดการเวลา

เมื่อวิธีและสถานที่ทำงานของเราเปลี่ยนแปลงไป การช่วยให้บุคลากรที่ทำงานจากทางไกลและบุคลากรหน้างานมีส่วนร่วมและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ เทคนิคบริหารจัดการเวลาเหล่านี้สามารถช่วยคุณได้

ผลิตภาพ | ใช้เวลาอ่าน 7 นาที

วิธีเพิ่มผลิตภาพของตัวคุณเอง

ผลิตภาพในตัวเองคืออะไร และคุณจะพัฒนาผลิตภาพได้อย่างไร ทำตามขั้นตอนง่ายๆ เหล่านี้เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านผลิตภาพของคุณ