เทรนด์การทำงานแห่งอนาคต 11 เทรนด์ที่คุณควรรู้
ความคาดหวังของพนักงานที่เปลี่ยนแปลงไป และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจาก AI และเทคโนโลยีได้เข้ามากำหนดทิศทางการดำเนินการของธุรกิจในทุกแง่มุม แล้วสิ่งที่ผู้นำคาดว่าจะต้องเผชิญคืออะไร และจะวางแผนเพื่อรับมือกับอนาคตได้อย่างไรบ้าง


พนักงานจะเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานของตนได้อย่างไร
อนาคตของสถานที่ทำงานเริ่มมีแนวทางที่ยึดพนักงานเป็นศูนย์กลางมากขึ้น โดยรูปแบบการทำงานแบบไฮบริดทำให้พนักงานสามารถกำหนดเวลาและสถานที่ในการทำงานได้ด้วยตัวเอง จากการสำรวจความคิดเห็นของพนักงานในแคนาดา ไอร์แลนด์ สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรพบว่า เกือบสามในสี่ของพนักงานมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตการทำงานหลังการแพร่ระบาด โดยหลายๆ คนกำลังวางแผนกิจวัตรประจำวันใหม่ รวมถึงเปลี่ยนแปลงเวลาและสถานที่ทำงาน1
เทคโนโลยีได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีที่เราพบปะ แบ่งปันความรู้ เข้าฝึกอบรม รวมถึงวางแผนงานและโปรเจ็กต์ต่างๆ พนักงานต้องการอิสระและความยืดหยุ่นมากขึ้น และกำลังให้ความสำคัญกับความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานของตน แม้แต่องค์กรที่ไม่สามารถอนุญาตให้พนักงานทำงานจากไกลก็ยังหันมาให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของพนักงานที่ครอบคลุมขึ้น ซึ่งเป็นผลพวงจากการหยุดชะงักและความท้าทายที่มาจากวิกฤตโควิด
องค์กรต่างหันกลับมาทบทวนแนวทางการปฏิบัติงานของตนในหลายแง่มุม องค์กรต้องการมอบความยืดหยุ่นและประโยชน์จากวิธีการทำงานใหม่ให้ได้มากที่สุดในแง่ของความพึงพอใจและผลิตภาพของพนักงาน ในยุคหลังภาวะวิกฤต องค์กรต่างกำลังฟื้นฟูกำลังของพนักงาน จัดโครงสร้างการจ้างงาน เงินและสวัสดิการชดเชยพิเศษเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการหยุดชะงักที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ องค์กรยังกำลังเปลี่ยนแปลงวิธีการวางแผนและแจกจ่ายงาน ขยายการใช้พนักงานชั่วคราว และลดขนาดหรือปรับเปลี่ยนพื้นที่ในสำนักงาน
เส้นทางสู่ออฟฟิศไร้พรมแดน
ค้นพบวิธีการและสาเหตุที่ทำให้เราสามารถทำงานอย่างเต็มความสามารถได้จากทุกที่ภายในโลกของเมตาเวิร์ส









เทรนด์ที่ใหญ่ที่สุดที่จะกำหนดอนาคตของการทำงานมีอะไรบ้าง
เทรนด์สำคัญหลายประการได้เปลี่ยนแปลงอนาคตของสถานที่ทำงานของเราแล้ว
1. การทำงานแบบไฮบริด
เทรนด์ที่สำคัญที่สุดเทรนด์หนึ่งที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิดคือการทำงานแบบไฮบริด พนักงานสามารถเลือกได้ว่าจะทำงานจากทางไกล ทำงานในสำนักงานเต็มเวลา หรือผสมผสานทั้งสองรูปแบบอย่างยืดหยุ่น ผลจากรายงานฉบับหนึ่งระบุว่า 40% ของนายจ้างกล่าวว่า ตนคาดหวังให้พนักงานมากกว่าครึ่งหนึ่งทำงานจากที่บ้านเป็นประจำเมื่อการแพร่ระบาดสิ้นสุดลง
พนักงานจะได้รับประโยชน์หลายประการ ได้แก่
- มีเวลามากขึ้น เพราะไม่ต้องเดินทางเหมือนเมื่อก่อน
- สามารถบริหารจัดการการทำงานกับชีวิตในบ้านและครอบครัว
- สามารถทำงานในเวลาที่พร้อมทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด แทนการทำงานในช่วงเวลาปกติ
การทำงานแบบไฮบริดทำให้การดำเนินการในองค์กรเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เนื่องจากนายจ้างให้ความสำคัญกับการรักษาผลิตภาพ การปรับตัวและพัฒนาวัฒนธรรมของบริษัท และการค้นหาวิธีใหม่ในการทำงานร่วมกันและเป็นรายบุคคล
2. ระบบอัตโนมัติ
ข้อมูลของ McKinsey ระบุว่า เกือบทุกอาชีพจะได้รับผลกระทบจากระบบอัตโนมัติ และวิธีการดำเนินธุรกิจในเกือบทุกอุตสาหกรรมจะเกิดการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เทคโนโลยีหุ่นยนต์และ AI ที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วได้ทำให้ปริมาณภาระงานที่ซ้ำซากจำเจลดลง เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและผลิตภาพ อีกทั้งยังช่วยประหยัดต้นทุน เมื่อเครื่องจักรสามารถปรับตัวให้เข้ากับภาระงานมากขึ้น พนักงานจะต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ และพร้อมที่จะทำงานควบคู่ไปกับเทคโนโลยีเหล่านั้น
3. เมตาเวิร์ส
เทคโนโลยี Virtual Reality, Augmented Reality และโฮโลแกรมกำลังจะเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานของเรา ด้วยการสร้างพื้นที่ที่ทำให้พนักงานประจำสำนักงาน พนักงานที่ทำงานจากทางไกล พนักงานหน้างาน และพนักงานที่ทำงานแบบไฮบริดสามารถรวมตัวกัน อีกทั้งยังเป็นการปฏิวัติรูปแบบการให้คำปรึกษาและการฝึกอบรมด้วย
4. การให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของพนักงาน
เมื่อมีที่ทำงานที่ยึดพนักงานเป็นศูนย์กลางจำนวนมากขึ้น การรับรองว่าพนักงานจะได้รับประสบการณ์เชิงบวกก็กลายเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จขององค์กร การที่จะมอบประสบการณ์เชิงบวกได้นั้นต้องอาศัยการบูรณาการจากทั้งสถานที่ทำงาน ฝ่ายไอที ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ฝ่ายผู้นำและผู้จัดการ
เพื่อรักษาจุดมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ และเพิ่มผลิตภาพทั้งในทีมที่ทำงานจากทางไกลและทีมแบบไฮบริด พนักงานจะต้องได้รับประสบการณ์ดิจิทัลที่ราบรื่น โดยมีเครื่องมือและซอฟต์แวร์ที่ผสมผสานกันอย่างลงตัวเพื่อช่วยให้มีผลิตภาพและรู้สึกมีส่วนร่วม ส่วนธุรกิจจะต้องใช้ข้อมูลเชิงลึกและข้อมูลเพื่อค้นหาและใช้งานเครื่องมือที่มีคุณค่า และคัดกรองปัจจัยที่สร้างภาระงานมากเกินไปและทำให้การทำงานของพนักงานล่าช้าออกไป
การจัดการทีมอย่างมีประสิทธิภาพได้พัฒนาไปสู่กระบวนการสร้างความผูกพันธ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีลักษณะดังนี้
- ปรับทักษะให้สอดคล้องกับงาน
- ส่งเสริมอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของบริษัทให้ครอบคลุมพนักงานทั่วทั้งองค์กร
- มีการปรับแต่งและดัดแปลงอย่างต่อเนื่อง
5. ความยืดหยุ่นในบทบาทและกระบวนการ
พนักงานหลายคนมองว่า ความยืดหยุ่นเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจทำงานหรือลาออกจากงานในยุคนี้ แม้ว่าการทำงานแบบไฮบริด หรือทางเลือกในการทำงานจากทางไกลจะเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจมากที่สุด แต่องค์กรก็สามารถนำเสนอความยืดหยุ่นในรูปแบบอื่นๆ ได้เช่นกัน ดังนี้
- ชั่วโมงการทำงานที่พนักงานเป็นผู้กำหนด
- เวลาเริ่มทำงานและเวลาเลิกงานแบบสะสม
- โอกาสในการขยายระยะเวลาหยุดพักงาน
- ทางเลือกเพิ่มเติมสำหรับการลาพักร้อน
สำหรับผู้นำธุรกิจ แนวทางเหล่านี้คือการประเมินงานและกระบวนการขององค์กรใหม่เพื่อค้นหาสิ่งที่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่ออยู่นอกสำนักงาน และสิ่งที่สามารถทำได้ดีกว่าเมื่อผู้คนอยู่ในสถานที่เดียวกัน
6. การให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพและสุขภาวะ
การเน้นย้ำความสำคัญของประสบการณ์พนักงานในยุคใหม่นี้ได้ทำให้องค์กรต่างมองหาวิธีส่งเสริมสุขภาพของพนักงานและสุขภาวะในที่ทำงาน ซึ่งประเด็นนี้ได้เชื่อมโยงเข้ากับความมุ่งมั่นใหม่ในการปรับสมดุลการใช้ชีวิตและการทำงานให้ดีขึ้น รวมถึงความกังวลด้านสุขภาพที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด หลายองค์กรกำลังเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพลงในสวัสดิการของพนักงาน และลงทุนในด้านอื่นๆ ดังนี้
- อาชีพและจุดมุ่งหมาย – บริษัทจะนำเสนอทางเลือกในการทำงานที่ยืดหยุ่น โอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง การฝึกอบรมและการฝึกสอนเพื่อยกระดับ และเส้นทางความก้าวหน้าที่ชัดเจน
- สังคม – รับรองว่าบุคลากรที่ทำงานจากทางไกล บุคลากรในสำนักงาน และบุคลากรหน้างานจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน และเป็นหนึ่งเดียวกันผ่านการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและโปรเจ็กต์การทำงานร่วมกัน ทรัพยากรที่ใช้ร่วมกัน รวมถึงงานกิจกรรมทางสังคม ทั้งทางออนไลน์และในชีวิตจริง
- การเงิน – PWC ให้ข้อมูลว่า ความกังวลด้านการเงินเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ที่ทำให้เกิดความเครียดในหมู่พนักงานท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาด พนักงานเกือบสองในสามส่วนกล่าวว่า ตนมีความเครียดทางการเงินมากขึ้นตั้งแต่โควิดเริ่มแพร่ระบาด นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ตนมีแนวโน้มที่จะหางานหรือทำงานกับนายจ้างที่ใส่ใจด้านสวัสดิภาพทางการเงินของพนักงานมากกว่า
- สุขภาพกาย – สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีเริ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน ซึ่งผู้จัดการอาวุโสสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับพนักงานได้ โดยส่งเสริมนิสัยที่ดีต่อสุขภาพในที่ทำงาน และคอยสนับสนุนพนักงานที่ทำงานจากทางไกล เพื่อให้แน่ใจว่าพนักงานจะมีสภาพแวดล้อมการทำงานในบ้านที่ดี
- สุขภาวะทางจิต – ข้อจำกัดเกี่ยวกับโควิดทำให้ภาวะซึมเศร้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก และปัจจุบันธุรกิจหลายรายกำลังพิจารณาที่จะเสนอแผนการให้คำปรึกษาหรือจ้างผู้ให้คำปรึกษาแก่พนักงาน
- สุขภาวะทางอารมณ์ – การทำงานจากที่บ้านและการแสวงหาความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานที่ดีขึ้น ทำให้ชีวิตของผู้จัดการและพนักงานมีความสำคัญต่อที่ทำงานมากขึ้น ผู้นำธุรกิจในอนาคตจะต้องแสดงความเข้าอกเข้าใจผ่านการเป็นผู้นำ และสร้างสภาพแวดล้อมที่สามารถตอบสนองความต้องการของตัวบุคคล แทนที่จะมุ่งความสนใจไปยังทีม บทบาท หรือภาระงาน
7. การสรรหาบุคลากรตามทักษะมากกว่าบทบาท
นายจ้างต่างตระหนักดีว่า ลำดับขั้นตามบทบาทในองค์กรแบบดั้งเดิมในยุคก่อนการระบาดนั้นไม่เหมาะกับสถานที่ทำงานแห่งอนาคตอีกต่อไป ธุรกิจจึงสรรหาบุคลากรและฝึกอบรมทักษะที่เปิดโอกาสในการขยายธุรกิจและการพัฒนาเส้นทางอาชีพ และมองว่าความสามารถของผู้คนมีความสำคัญมากกว่างานที่พวกเขาทำหรือตำแหน่งที่เป็นอยู่
8. การเฝ้าติดตามและวิเคราะห์พนักงาน
แม้ว่าจะไม่มีโอกาสใดจะดีไปกว่านี้แล้วในการเฝ้าติดตามกิจกรรมของพนักงาน แต่การทำเช่นนั้นก็อาจถูกมองในแง่ลบได้ โดยเฉพาะในองค์กรที่กำลังพัฒนารูปแบบการทำงานแบบไฮบริด ซึ่งมีความไว้วางใจเป็นหัวใจสำคัญ ผู้นำจึงต้องพร้อมรับฟังปัญหา และแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการรวบรวมข้อมูล เช่น ทำให้การวางแผน การบริหารจัดการ และการประเมินดีขึ้น และใช้ผลลัพธ์เชิงบวกจากการเฝ้าติดตามเป็นผลตอบแทนความก้าวหน้า
9. ความโปร่งใสที่เพิ่มขึ้น
การระบาดใหญ่ทั่วโลกทำให้ผู้นำ ผู้จัดการ และพนักงานต้องเผชิญกับสถานการณ์เดียวกัน ซึ่งทุกคนต่างต้องดิ้นรนปรับตัวทำงานท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนี้ทำให้ผู้นำธุรกิจและผู้จัดการต้องมีความชัดเจน การสื่อสารที่กระจ่างและโปร่งใสจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ
เมื่อข้อจำกัดจากการแพร่ระบาดถูกยกเลิกไป ประโยชน์จากความโปร่งใสนี้อาจหายไปด้วย เว้นแต่ว่านายจ้างจะยังคงลงทุนกับวิธีการแชร์แผนงานและเป้าหมาย การพิจารณารางวัลและสวัสดิการ และให้ความสำคัญกับการสื่อสารต่อไป
10. องค์กรที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น
ท่ามกลางการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด องค์กรต่างเพิ่มศักยภาพด้วยการขยายขนาด ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสในการทำงานร่วมกันข้ามบริษัท การควบรวมกิจการและการกระจายการลงทุนเชิงภูมิศาสตร์ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ ผู้นำธุรกิจยังลงทุนในตลาดแห่งใหม่เพื่อบรรเทาและจัดการความเสี่ยงอีกด้วย
ความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นเหล่านี้ได้สร้างความท้าทายสำหรับอนาคตในด้านของการจัดการประสิทธิภาพ การสรรหาทักษะที่จำเป็นต่อการดำเนินงานใหม่ และการเชื่อมโยงส่วนต่างๆ ขององค์กรเข้าด้วยกัน
11. การให้ความสำคัญกับค่านิยมและพันธกิจ
ในอนาคต องค์กรที่ประสบความสำเร็จจะเป็นองค์กรที่มีจุดมุ่งหมายทางพันธกิจที่ชัดเจน ซึ่งสามารถรักษาความสมดุลระหว่างสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานกับผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผลิตภาพที่ดีขึ้น นอกจากนี้ พนักงานจำนวนมากยังต้องการทำงานให้กับธุรกิจที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อทั้งสังคมและองค์กร ผู้นำธุรกิจจะต้องมั่นใจว่าจุดมุ่งหมายของตนชัดเจน และส่งเสริมพฤติกรรมที่จะผลักดันให้พันธกิจก้าวไปข้างหน้า
นายจ้างสามารถวางแผนเพื่ออนาคตได้อย่างไร
การเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้น เมื่อโลกเริ่มฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด จะต้องมีหลายสิ่งตามมาอย่างแน่นอน นายจ้างที่ประสบความสำเร็จต้องเรียนรู้ที่จะทำสิ่งต่อไปนี้
- เปิดรับความคล่องตัว
- มอบความยืดหยุ่น
- ให้ความสำคัญกับผู้คนมากกว่าบทบาทที่กำหนดหรือลำดับขั้นในองค์กรแบบดั้งเดิม
- ตามทันภูมิทัศน์เทคโนโลยีที่ขยายไปอย่างรวดเร็ว
- สร้างเป้าหมายใหม่
- พูดคุยเรื่องอนาคตกับพนักงานทุกระดับ

ก้าวเข้าสู่อนาคตแห่งการทำงาน
สมัครเพื่อรับข้อมูลเชิงลึกล่าสุดจากเราเกี่ยวกับอนาคตแห่งการทำงานและอนาคตของเมตาเวิร์ส
เมื่อส่งแบบฟอร์มนี้ จะถือว่าคุณยินยอมที่จะรับการติดต่อสื่อสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับการตลาดจาก Facebook ซึ่งประกอบด้วยข่าวสาร กิจกรรม ข้อมูลอัพเดต และอีเมลส่งเสริมการขาย โดยคุณสามารถถอนความยินยอมและเลิกรับอีเมลดังกล่าวได้ทุกเมื่อ นอกจากนี้ คุณยังรับทราบว่าได้อ่านและยอมรับข้อกำหนดด้านความเป็นส่วนตัวบน Workplace แล้ว
อ่านต่อ: