ความเหนื่อยล้าจากคำติชม: คำติชมมากแค่ไหนถึงจะเรียกว่ามากเกินไป

การให้และรับคำติชมเป็นส่วนสำคัญของการเรียนรู้และการเติบโตสำหรับพนักงาน แต่คำติชมที่มากเกินไปก็อาจสร้างความกดดันได้ ถ้าอย่างนั้น เราควรประเมินผลงานมากน้อยเพียงใดจึงจะมีประสิทธิภาพ แล้วต้องถึงจุดไหนจึงจะกลายเป็นการให้คำติชมที่เกินพอดี

การมีส่วนร่วมของพนักงาน | ใช้เวลาอ่าน 8 นาที
Feedback Fatigue
ความเหนื่อยล้าจากคำติชมคืออะไร

ความเหนื่อยล้าจากคำติชมคืออะไร

ลองนึกดูว่าคุณจะรู้สึกอย่างไร หากมีคนคอยวิจารณ์คุณอยู่ตลอดเวลา อย่างเช่น "คุณอธิบายวิธีที่คุณจะจัดการกับโปรเจ็กต์นี้ได้ไหม" "คุณใช้เวลาตอบอีเมลนานเกินไปแล้วนะ" "เกี่ยวกับเรื่องที่คุณพูดในที่ประชุมน่ะ..." แค่ฟังก็เหนื่อยใจแล้ว

แม้ว่าคำพูดที่ยกตัวอย่างไปอาจจะสุดโต่งไปบ้าง แต่ความเหนื่อยล้าจากคำติชม ซึ่งเป็นอาการเหนื่อยล้าทางจิตใจหลังจากได้รับคำติชมที่มากเกินไปนั้นมีอยู่จริง

อย่างไรก็ตาม ไม่มีเหตุผลที่เราควรหยุดให้คำติชมแก่พนักงาน การให้คำติชมเป็นส่วนสำคัญของชีวิตการทำงาน และผู้คนจะไม่มีวันได้เรียนรู้และเติบโตได้หากไม่มีการติชม คำติชมช่วยพนักงานสร้างจุดแข็งและเข้าใจจุดอ่อนของตน เพื่อให้สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานในอนาคตได้ และที่จริงแล้ว พนักงาน 63% กล่าวว่าตนต้องการคำติชม 'ในระหว่างทำงาน' มากขึ้น แต่อะไรที่มากไปย่อมไม่ใช่เรื่องดี และยิ่งผู้คนรู้สึกเหนื่อยล้ามากเท่าใด คำติชมก็ยิ่งมีประโยชน์น้อยลงเท่านั้น

แก้งานยุ่งได้ไม่ยากด้วย Workplace

ไม่ว่าคุณจะต้องการแจ้งให้ทุกคนทราบเกี่ยวกับการกลับสู่ที่ทำงาน หรือนำวิธีการทำงานแบบผสมผสานไปปรับใช้ Workplace ก็สามารถทำให้การทำงานเป็นเรื่องง่ายขึ้นได้

การให้คำติชมมากเกินไปทำให้เกิดอะไรได้บ้าง

การให้คำติชมมากเกินไปทำให้เกิดอะไรได้บ้าง

เมื่อพูดถึงการให้คำติชมอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว การให้คำติชมน้อยจะได้ประโยชน์มากกว่า ปริมาณของคำติชมที่เหมาะสมจะมีประสิทธิภาพอย่างมากในด้านการมีส่วนร่วมและสร้างแรงบันดาลใจให้กับพนักงาน แต่คำติชมที่มากเกินไปจะกลายเป็นการจ้ำจี้จ้ำไชที่อาจสร้างความสับสน ทำให้ผู้คนลังเลที่จะตัดสินใจเพราะกลัวว่าจะทำผิดพลาด และอาจนำไปสู่วังวนของความรู้สึกด้านลบ เพราะความมั่นใจในการทำงานของผู้คนลดลง

ผลกระทบของคำติชมเชิงลบ

ผลกระทบของคำติชมเชิงลบ

คำติชมอาจกลายเป็นอันตรายได้ หากไม่ให้ด้วยความระมัดระวังและละเอียดอ่อน คุณเสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหาต่อไปนี้

พนักงานมีแรงจูงใจลดลง

การวิจารณ์เป็นอะไรที่ยากจะรับฟัง แม้จะฟังดูสมเหตุสมผลแค่ไหนก็ตาม คุณต้องให้คำวิจารณ์อย่างรอบคอบและใส่ใจเพื่อไม่ทำให้พนักงานหมดความมั่นใจและเสียกำลังใจ ผู้คนจะมีส่วนร่วมกับงานน้อยลงเมื่อสูญเสียแรงจูงใจ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อผลิตภาพ

ขวัญกำลังใจถดถอย

เมื่อผู้คนรู้สึกไม่มีความสุข ผู้คนจะขาดแรงผลักดันและความกระตือรือร้น การให้คำติชมเชิงลบในการทำงานมากเกินไปอาจส่งผลให้ขวัญกำลังใจลดลงได้ และส่งผลกระทบได้กระทั่งต่อผู้ที่เต็มใจเปิดรับคำวิจารณ์ที่สร้างสรรค์ ที่ทำงานที่ไร้ซึ่งความสุขสามารถสร้างสภาพแวดล้อมเชิงลบที่พนักงานไม่อยากเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง

พนักงานรู้สึกด้อยค่า

การประเมินผลงานที่ต่ำหรือคำติชมเชิงลบอาจทำให้พนักงานสูญเสียความภูมิใจตนเองได้ ถ้าคุณไม่รู้จักให้คำชมบ้าง พนักงานก็จะเริ่มรู้สึกว่าตนไม่มีคุณค่า สมาชิกในทีมที่รู้สึกด้อยค่าจะไม่เต็มใจที่ต้องทำงานล่วงเวลาหรือพยายามทำงานเกินหน้าที่เมื่อจำเป็น

ความสัมพันธ์ที่บาดหมาง

หากมีการจัดการสถานการณ์ที่ไม่ดี พนักงานอาจขุ่นเคืองผู้จัดการที่เรียกไปตำหนิพฤติกรรมเชิงลบหรือผลงานย่ำแย่ พนักงานคนนั้นอาจโต้กลับด้วยการทำตัวไม่แยแส ไม่เชื่อฟัง หรือพยายามก่อกวน

สุขภาพจิตตกต่ำ

เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะจมอยู่กับความคิดเห็นเชิงลบมากกว่าความคิดเห็นเชิงบวก และบางคนก็อ่อนไหวต่อคำวิจารณ์อย่างมาก การให้คำติชมเชิงลบในการทำงานที่มากเกินไปอาจทวีระดับความตึงเครียดและส่งผลต่อสุขภาวะของพนักงานได้ สุขภาพจิตที่แย่ลงเช่นนี้อาจส่งผลเสียต่อผลิตภาพและทำให้พนักงานขาดงานมากขึ้น

พนักงานไม่อยากทำงานกับองค์กรต่อ

การศึกษาวิจัยของ Gallup พบว่า การได้รับคำติชมเชิงลบผลักดันให้พนักงานเกือบ 30% คอยมองหางานใหม่ เมื่อพิจารณาว่าต้นทุนโดยเฉลี่ยในการแทนที่พนักงานมีมูลค่าเทียบเท่าเงินเดือน 6-9 เดือน ก็ถือว่าเป็นราคาที่สูงทีเดียวสำหรับคำติชมที่ไม่พึงประสงค์เพียงเล็กน้อย

ผลกระทบของคำติชมเชิงบวก

ผลกระทบของคำติชมเชิงบวก

ในทางกลับกัน คำติชมพนักงานก็จะมีพลังในการเปลี่ยนแปลงผู้คนได้เมื่อให้ด้วยความรอบคอบและจริงใจ โดยประโยชน์ของคำติชมเชิงบวกได้แก่

การเสริมสร้างกำลังใจ

การชื่นชมในผลงานช่วยยกระดับขวัญกำลังใจของพนักงานได้ และทำให้พนักงานอยากมุ่งมั่นขวนขวายที่จะทำผลงานให้ได้ดียิ่งขึ้น จนเกิดเป็นสภาพแวดล้อมการทำงานที่สดใสที่พนักงานรู้สึกว่าได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนให้ทำงานออกมาดี

ความภูมิใจในตัวเองเพิ่มขึ้น

คำติชมเชิงบวกช่วยให้ผู้คนรู้ตัวว่าทำสิ่งใดได้ดี และสร้างความมั่นใจในการพยายามปรับปรุงสิ่งที่ตนยังขาดไปให้ดียิ่งกว่าเดิม การส่งเสริมการสร้างทักษะและการพัฒนาตนเองเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้บุคลากรเติบโตในเส้นทางอาชีพการงานของตน

ผลิตภาพสูงขึ้น

คำติชมเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของผลิตภาพ เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยให้พนักงานสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับประสิทธิภาพการทำงานและผลิตภาพของตัวเอง รวมถึงเวลาที่ตนต้องเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ การให้ผู้จัดการกำหนดทิศทางและตั้งเป้าหมายในสัปดาห์และเดือนต่อๆ ไปก็ถือว่าเป็นวิธีที่ดีเยี่ยม

การมีส่วนร่วมมากกว่าเดิม

Gallup พบว่าพนักงานมากกว่าครึ่งรู้สึกมีส่วนร่วมในที่ทำงานหลังจากได้รับคำชมจากผู้จัดการ วัฒนธรรมในที่ทำงานที่มีส่วนร่วมมากกว่าทำให้ผู้คนรู้สึกสบายใจที่จะแบ่งปันไอเดียใหม่ๆ และหยิบยกประเด็นปัญหาที่ต้องแก้ไขขึ้นมาพูด

ความรู้สึกโดยรวมต่อบริษัทในเชิงบวก

คำติชมเชิงสร้างสรรค์ทำให้เกิดสถานที่ทำงานที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งนำไปสู่พนักงานที่มีความสุขและมีทักษะมากขึ้น ทีมที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และวัฒนธรรมบริษัทที่ดีขึ้น องค์กรจะกลายเป็นสถานที่ที่ผู้คนต้องการทำงานและเป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งส่งผลดีต่อชื่อเสียงของธุรกิจ

ความพึงพอใจในหน้าที่การงาน

เมื่อผู้คนรู้ว่าตนกำลังมาถูกทางและมีคนเห็นคุณค่าในการทำงาน พวกเขาก็มีแนวโน้มที่จะสนุกกับการทำงานมากขึ้นและทำงานกับบริษัทต่อไป ทำให้องค์กรรักษาพนักงานได้ในระยะยาว ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ที่เหล่านายจ้างต่างต้องเผชิญในปัจจุบัน

หาจุดสมดุลของการติชม

หาจุดสมดุลของการติชม

เพื่อที่จะให้คำติชมมีประสิทธิภาพ คุณควรให้คำติชมเชิงบวกร่วมกับคำวิจารณ์เชิงสร้างสรรค์อย่างสมดุล เพื่อทำให้พนักงานเข้าใจถึงสิ่งที่ตนทำได้ดีและสิ่งที่ต้องปรับปรุง

การให้อย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อความพึงพอใจและประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานได้ คำติชมเชิงบวกที่มากไปจะสร้างผลกระทบได้น้อยลงและอาจทำให้พนักงานชะล่าใจ ในขณะที่การให้คำติชมเชิงลบที่มากไปอาจทำลายความมั่นใจได้

การหาจุดสมดุลที่ลงตัวไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสิ่งที่ใช้ได้ผลกับพนักงานคนหนึ่งอาจใช้ไม่ได้ผลกับพนักงานอีกคน ผู้จัดการที่ประสบความสำเร็จจะรู้วิธีดึงศักยภาพของพนักงานแต่ละคนออกมา

วิธีให้คำติชมที่มีประสิทธิภาพ

วิธีให้คำติชมที่มีประสิทธิภาพ

ความเหนื่อยล้าจากคำติชมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้โดยสิ้นเชิง ลองทำตามเคล็ดลับสำหรับผู้จัดการและผู้นำเกี่ยวกับวิธีให้คำติชมพนักงานที่มีประสิทธิภาพเหล่านี้

เน้นที่พฤติกรรม ไม่ใช่บุคลิกภาพ

การให้คำติชมไม่จำเป็นต้องก้าวก่ายเรื่องส่วนตัว ให้ความสำคัญกับสิ่งที่พนักงานของคุณทำมากกว่าสิ่งที่พวกเขาเป็น

เช่น ความคิดเห็นอย่าง "อย่าลืมต้อนรับลูกค้าทุกคนด้วยคำทักทายที่เป็นมิตร" นั้นน่าฟังกว่า "คุณต้องทำตัวให้สุภาพกว่านี้เมื่อทักทายลูกค้า"

รักษาสมดุลระหว่างสิ่งที่ดีและไม่ดี

วัตถุประสงค์ของการให้คำติชมพนักงานควรเป็นการช่วยให้บุคคลนั้นปรับปรุง ดังนั้น หากเป็นไปได้ ให้เริ่มต้นและปิดท้ายด้วยคำพูดเชิงบวกเสมอ หรือที่เรียกกันว่าเทคนิค 'การติชมแบบแซนด์วิช' การรักษาสมดุลของคำวิจารณ์เชิงสร้างสรรค์ด้วยประเด็นเชิงบวกจะทำให้ผู้ที่ได้รับคำติชมรู้สึกมีกำลังใจมากกว่ารู้สึกว่าตนโดนติเตียน

เจาะจงให้ละเอียด

ความคิดเห็นทั่วไปไม่ได้ช่วยอะไรพนักงานมากนัก การให้คำติชมที่เจาะจงแสดงให้เห็นว่าคุณได้ตรึกตรองถึงการทำงานของพนักงานแล้วในระดับหนึ่ง หากคุณต้องการบอกให้พนักงานรู้ว่าคุณชอบอะไรในการทำงานของพวกเขา หรือแม้แต่สิ่งที่คุณไม่ชอบ ให้อธิบายเหตุผลว่าทำไม

ตั้งเป้าหมายที่ทำได้จริง

คำติชมช่วยให้พนักงานพัฒนาในด้านอาชีพการงานและทำงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของบริษัท เป้าหมายต้องดึงความสามารถของผู้คนออกมา แต่ที่สำคัญก็คือต้องทำได้จริง ให้เวลาที่เพียงพอแก่พนักงานในการปรับตัวเข้ากับความท้าทายใหม่ๆ เพื่อไม่ให้เกิดความเครียดที่เกินควร เพราะคุณไม่สามารถคาดหวังให้คนคนหนึ่งเปลี่ยนแปลงภายในชั่วข้ามคืนได้

เสนอความช่วยเหลือ

หากพนักงานรู้สึกถูกกดดันจากคำติชม คุณต้องอย่าลืมทำให้พนักงานรู้สึกได้รับการสนับสนุน ไม่ใช่ว่าทุกคนจะรับมือกับคำวิจารณ์ได้ดี ดังนั้นพึงระลึกไว้เสมอว่า บางคนอาจต้องการกำลังใจมากกว่าคนอื่นๆ ให้เปิดใจยอมรับมุมมองที่พนักงานมีต่อสถานการณ์ และเต็มใจรับฟังความคิดเห็น

วิธีรับมือกับคำติชมที่มากเกินไป

วิธีรับมือกับคำติชมที่มากเกินไป

คุณเป็นพนักงานที่กำลังประสบปัญหาจากคำติชมที่มากเกินไปใช่ไหม เคล็ดลับเหล่านี้จะช่วยคุณจัดการกับปัญหานี้ได้

คิดทบทวน

เมื่อคนเราถูกตัดสินหรือถูกวิจารณ์ เรามักเผลอคิดถึงสถานการณ์ที่เลวร้าย แล้วเชื่อว่าเราไม่ดีพอหรือกำลังจะถูกไล่ออก สิ่งสำคัญคือการรับฟังและพยายามคิดว่าคำติชมนั้นเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากกว่าเป็นคำวิจารณ์

สอบถามรายละเอียด

การทำความเข้าใจคำติชมที่ได้รับอย่างถี่ถ้วนเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นคุณควรถามถึงความหมายให้ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำติชมนั้นคลุมเครือ การถามว่าคุณสามารถทำอย่างไรให้ได้ผลลัพธ์ที่ต่างออกไปอาจเป็นประโยชน์สำหรับคุณ

ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน

ขอให้ผู้จัดการกำหนดเป้าหมายที่คุณสามารถทำได้ให้ชัดเจน เช่น ปรับปรุงทักษะการจัดการเวลาของคุณ หรือมีความเป็นผู้นำในโปรเจ็กต์มากขึ้น

บอกความรู้สึกของคุณ

คำติชมควรเป็นการสนทนาแบบสองทาง หากคุณเป็นฝ่ายรับคำติชม คุณควรบอกผู้จัดการว่าคุณรู้สึกอย่างไร การทำตัวสบายๆ ก็สามารถพัฒนาความสัมพันธ์ให้ดีขึ้นได้อยู่บ่อยครั้ง และการสนทนาอย่างจริงใจที่มาจากใจจริงก็สามารถช่วยผู้จัดการของคุณได้เช่นกัน

ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวที่กำหนดว่าคุณควรให้คำติชมบ่อยเพียงใด สิ่งสำคัญคือต้องใช้เวลาในการสร้างความไว้วางใจกับทีมของคุณ เพื่อให้คุณรู้ว่าอะไรดีที่สุดสำหรับพนักงานแต่ละคน ท้ายที่สุดแล้ว การสนทนากับพนักงานอย่างเปิดกว้างสามารถก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีผลิตภาพและเป็นไปในเชิงบวกมากขึ้นได้

อ่านต่อ:

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

การมีส่วนร่วมของพนักงานคืออะไร และเหตุใดจึงมีความสำคัญต่อบุคลากรและธุรกิจของคุณ

เรียนรู้เพิ่มเติม
บทความนี้มีประโยชน์หรือไม่
ขอบคุณสำหรับความเห็นของคุณ

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

การมีส่วนร่วมของพนักงานคืออะไร และเหตุใดจึงมีความสำคัญต่อบุคลากรและธุรกิจของคุณ

เรียนรู้เพิ่มเติม

โพสต์ล่าสุด

การมีส่วนร่วมของพนักงาน | ใช้เวลาอ่าน 8 นาที

คำถามสำหรับแบบสำรวจความพึงพอใจของพนักงาน: ควรถามอะไรและเพราะเหตุใด

คุณจะสร้างประสบการณ์ของพนักงานให้ออกมาดีเลิศได้อย่างไรหากคุณไม่สามารถวัดผลสิ่งเหล่านี้ได้ มาเรียนรู้วิธีใช้แบบสำรวจความพึงพอใจของพนักงานเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กรของคุณไปด้วยกัน

การมีส่วนร่วมของพนักงาน | ใช้เวลาอ่าน 6 นาที

เสียงของพนักงาน: การรับฟังจะช่วยให้คุณสามารถสร้างวัฒนธรรมและคว้าตัวผู้มีความสามารถมาได้อย่างไร

องค์กรต่างๆ ล้วนกำลังมองหาวิธีที่จะดึงดูดและรักษาพนักงานที่เก่งที่สุดของตนเอาไว้เมื่อต้องเผชิญกับการลาออกครั้งใหญ่ นี่คือเหตุผลที่การรับฟังอาจเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จนั้น